“ไทย” จัด เทศกาลดนตรีฉ่ำ! ปีละ 300 งาน ติด TOP 5 ประเทศที่มีรายได้จากอุตฯเพลงมากสุดในเอเชีย

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“ไทย” จัด เทศกาลดนตรีฉ่ำ! ปีละ 300 งาน ติด TOP 5 ประเทศที่มีรายได้จากอุตฯเพลงมากสุดในเอเชีย

Date Time: 2 ธ.ค. 2567 18:31 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • ใครว่า "ไทย" ไม่ปัง! เทศกาลดนตรีฉ่ำ! ปีละ 300 งาน อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ศิลปินไทยจำนวนไปเปิดตลาดใหม่ที่ต่างประเทศ ดันไทยก้าวสู่ TOP 5 ของประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมเพลงมากที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อย

Latest


ท่ามกลางความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและถดถอย แต่ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป็น hidden gem ที่กำลังเติบโต นั่นก็คือ “อุตสาหกรรมเพลง”

ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ศิลปินไทยจำนวนมากมีโอกาสไปเปิดตลาดใหม่ที่ต่างประเทศ ขณะเดียวกันแฟนคลับต่างชาติก็หลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนศิลปินไทยกันมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่ TOP 5 ของประเทศที่มีรายได้จากอุตสาหกรรมเพลงมากที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อย

จากความสำเร็จนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง คือ “เทศกาลดนตรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ ที่มีความหลากหลายด้านแนวเพลงและศิลปิน ทำให้ศิลปินจากทั่วประเทศมีโอกาสแสดงความสามารถให้คนจำนวนมากเห็น จนเกิดเป็นการบอกต่อ และเกิดการจ้างงานตามมาอย่างต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น “Big Mountain Music Festival” เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยผู้จัด GMM SHOW หน่วยงานภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ที่ไม่เคยหยุดพัฒนาโปรดักชั่นและการบริหารจัดการในด้านต่างๆ นั่นคือการมอบโอกาสใหม่ให้ศิลปินชั้นนำ ศิลปินอิสระ และศิลปินจากค่ายเพลงเล็กใหญ่จากทั่วประเทศไทยได้มีพื้นที่แสดงความสามารถอย่างเต็มที่

ผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

รวมทั้งสร้างความร่วมมือใหม่กับศิลปินและผู้จัดต่างชาติ โดยล่าสุด Big Mountain Music Festival ครั้งที่ 14 ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 7-8 ธ.ค. 2567 สอดรับกับวัตถุประสงค์ของโครงการ Music Exchange โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave ผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยได้รับความไว้วางใจให้เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ ทำหน้าที่ต้อนรับ 20 ผู้จัดเทศกาลดนตรี ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเจนซี่ระดับโลก

ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President – Showbiz GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Big Mountain Music Festival เป็นเทศกาลดนตรีสัญชาติไทยที่มีความหลากหลายของศิลปินและแนวเพลงมากที่สุด โดยมีทั้งศิลปินร็อกชั้นนำ เช่น บอดี้สแลม ศิลปินเพลงป๊อปผสม R&B แบบเจฟ ซาเตอร์ ศิลปินอินดี้อีกนับร้อยชีวิต หรือแม้กระทั่งวงหมอลำพื้นบ้านอย่างระเบียบวาทะศิลป์

การที่โครงการ Music Exchange และ 20 ผู้จัด ตั้งใจมาเยี่ยมชมงานของเรา จะสร้างประโยชน์ให้กับศิลปิน ค่ายเพลง และอุตสาหกรรมเพลงไทยได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้จัดเทศกาลดนตรีชั้นนำระดับโลก จะได้เห็นความสามารถของศิลปินไทยอย่างเต็มที่ และสามารถสัมผัสบรรยากาศจริงในการชมโชว์บนเวทีจากมุมมองของผู้ชมได้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจคัดเลือกศิลปินได้ง่ายขึ้น

ไทยจัดเทศกาลดนตรีฉ่ำปีละไม่ต่ำกว่า 300 งาน

ยุทธนา กล่าวต่อไปว่า โครงการ Music Exchange นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมเพลงไทย เพราะประเทศไทยมีเทศกาลดนตรีอยู่เป็นจำนวนมาก ปีละไม่ต่ำกว่า 300 งาน เชื่อมั่นว่าโครงการนี้ จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม และเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้คาดว่าเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่นในปีนี้ จะมีเหล่าแฟนเพลงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 60,000 คนต่อวัน นั่นจึงทำให้ความสนุกสนาน ย่อมมาพร้อมกับการรับผิดชอบ ซึ่งบริษัท เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด และ ทีมผู้จัดงาน “GAYRAY (เกเร)” หน่วยงานภายใต้ จีเอ็มเอ็ม โชว์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) สานต่อพลังสนับสนุนการบริหารจัดการและคัดแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้ชื่อแคมเปญใหม่ “Waste Nothing - มันส์ แล้ว ทิ้ง” ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 14 กับการสนุกอย่างรับผิดชอบ ทิ้งให้ถูกที่ แยกให้ถูกถัง เพื่อส่งขยะเหล่านั้นไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม

คาดตลาดเพลงในปี 2573 จะโตขึ้นได้อีก 3 เท่า

ขณะเดียวกันจากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของตลาดอุตสาหกรรมเพลง ตั้งแต่ปี 2564 มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 18% สืบเนื่องมาจากการเติบโตของดิจิทัลสตรีมมิ่ง จากเดิมธุรกิจเพลงพึ่งพารายได้แบบ Physical คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของตลาด ในขณะที่ Digital Music มีสัดส่วนเพียง 20% แต่หลังจากการเข้าสู่ยุค Digital ส่งผลให้ธุรกิจเพลงมีรายได้จากช่องทาง Digital Music กลับขยับขึ้นมากลายเป็น 80%

และเมื่อกลับมาดูการเติบโตของ Music Streaming Platform จะเห็นว่า ปี 2566 อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเติบโตขึ้น 10.2% ทำให้ตลาดมีมูลค่าถึง 28.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ยิ่งไปกว่านั้น ทาง Goldman Sachs ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดเพลงในปี 2573 จะสามารถเติบโตขึ้นได้อีก 3 เท่า ซึ่งมีโอกาสที่ตลาดจะมีมูลค่ามากถึง 4.6 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกัน GMM Music ในฐานะบริษัทฯที่มีความแข็งแรงด้านคลังทรัพย์สินทางดนตรีของไทยที่ได้สั่งสมและมีการพัฒนาต่อยอดมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี ผนวกกับการมี Music Infrastructure ครบวงจรที่สุดในไทย

ซึ่งการวางจุดยืนของ GMM Music นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลค่ายย่อย ผลิตเพลงป้อนงานให้กับศิลปิน แต่ยังนำเนื้อหาต่างๆที่ได้จากตัวศิลปินหรือทรัพย์สินทางดนตรีต่างๆ มาบริหารจัดการหารายได้ผ่าน Video และ Audio Music Streaming ซึ่งเป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ ที่ทำให้ค่ายเพลง มีรายได้เข้ามาแบบต่อเนื่อง และเป็นรายได้ที่สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ยาวนานเป็นหลายสิบปีจากทรัพย์สินทางดนตรี โดยไม่ต้องลงทุนผลิตคอนเทนต์ใหม่เลยแม้แต่น้อย

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ