เดือน ส.ค.2426 ภายใต้รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระบบไปรษณีย์ของประเทศไทยได้ถูกก่อตั้งขึ้น ให้บริการรับฝาก-ส่งจดหมายหรือหนังสือ ใช้ชื่อว่า “กรมไปรษณีย์” มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสะพานพระปกเกล้า
ตลอด 141 ปี “กรมไปรษณีย์ไทย” เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา จนถูกยกระดับขึ้นเป็น “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” ในปี 2546 เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมและ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ราวกับหยั่งรู้อนาคตข้างหน้า หากบริษัทไปรษณีย์ไทยไม่ถูกแปรรูปให้มีระบบการทำงานคล่องตัวขึ้น ใกล้เคียงกับภาคเอกชนในวันนี้ ไปรษณีย์ไทยอาจไม่สามารถยืนหยัดแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์ที่ดุเดือดเลือดพล่านในยุคนี้ได้
9 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.ย.2567) ไปรษณีย์ไทยมีรายได้รวมที่ 15,858.67 ล้านบาท กำไร 31 ล้านบาท ภายใต้เป้ารายได้ปี 2567 ที่ 21,000 ล้านบาท โดย ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กำลังพยายามขับเคลื่อนองคาพยพไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ ความเสี่ยงสำคัญคือนโยบายปรับขึ้นค่าแรง เพิ่มค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นต้นทุนขนาดใหญ่สำหรับไปรษณีย์ไทย ที่มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 38,000 คน
“จนถึงวันนี้ (15 พ.ย.2567) เรายังมีกำไรอยู่ แต่จนกว่าจะถึงสิ้นปี ยังต้องลุ้น”
ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค.2564 กรรมการผู้จัดการใหญ่ไปรษณีย์ไทยเข้ารับตำแหน่งพร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ซึ่งเป็นตัวเร่งการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดด
“มองเผินๆเราในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง ย่อมได้รับประโยชน์ แต่ในความเฟื่องฟูของอีคอมเมิร์ซ ก็ได้นำพาคู่แข่งจำนวนมากเข้ามา ทุกคนมองว่าเป็นโอกาส กลายเป็นแม้ความต้องการจะมากขึ้น แต่ถ้าเราไม่แข่ง เราก็จะไม่ได้ส่วนแบ่งนั้น”
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ไปรษณีย์ไทย ต้องยอมปรับลดราคาลงมาต่ำที่สุดครั้งหนึ่ง เพื่อให้สามารถคงอยู่ในสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงแห่งนี้ได้ “ผู้ให้บริการหน้าใหม่ ใช้กลยุทธ์หักดิบตัดราคาแรง ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีใครรู้จักหรือหันมาใช้ จนเราต้องทำแคมเปญแข่ง หั่นราคาตามเริ่มต้นที่ 19 บาท แต่สำหรับลูกค้ารายใหญ่ เราต้องให้ราคาต่ำกว่านั้น”
แม้จะหนักหนา แต่วิกฤติโควิดช่วยสะท้อนภาพความเป็นจริงที่ไม่ค่อยจะสวยหรูนักในอนาคต หากไปรษณีย์ไทยไม่ยอมปรับเปลี่ยน เพราะทิศทางรายได้ช่วงก่อนโควิดตั้งแต่ปี 2561-2563 ลดลงเรื่อยๆ จากปีละ 27,000 ล้านบาท แม้ในภาพรวมจะยังมีกำไรอยู่
“รายได้ที่ปักหัวลง แต่ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ยังเท่าเดิม โดยเฉพาะเงินเดือน สวัสดิการพนักงานจำนวน 42,000 คน ในขณะนั้นสูงถึง 64% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัท ก่อนผมเข้ามา ไปรษณีย์ไทยขาดทุน 8 เดือนติด”
อย่างไม่ต้องคาดเดา จบปี 2564 ไปรษณีย์ไทยขาดทุน 1,594 ล้านบาท จากรายได้ 21,734 ล้านบาท ต่อเนื่องในปี 2565 ขาดทุน 3,046 ล้านบาท จากรายได้ 19,984 ล้านบาท
ดร.ดนันท์ชี้แจงว่า นอกจากการแข่งขันที่รุนแรง ผลพวงจากการขาดทุนส่วนหนึ่ง มาจากการปรับโครงสร้างองค์กร ทยอยเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์หรือเกษียณล่วงหน้า จูงใจให้พนักงานที่มีอายุงานเหลือน้อยเกษียณก่อนอายุ 60 จนปัจจุบันเหลือจำนวนพนักงานที่ 38,000 คน จาก 42,000 คน ลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงาน จาก 64% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบริษัทเหลือ 56% รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น รวมทีมบุรุษไปรษณีย์ที่ส่งจดหมายปกติและจดหมายด่วนพิเศษ EMS เข้าด้วยกัน จากปกติที่แยกกันให้บริการ ทำให้ต้นทุนลดลง 18% ตลอดจนขยายเวลาปิดทำการเป็น 20.00 น. สอดรับกับพฤติกรรมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เพิ่มเวลาทำงานได้เดือนละ 6,000 ชั่วโมง ทำให้ยอดส่งสินค้าเพิ่มขึ้น เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลประกอบการในปี 2566 กระเตื้องขึ้น รายได้อยู่ที่ 20,934 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ไม่มาก แต่การปรับลดค่าใช้จ่ายในช่วง 2 ปีก่อนหน้า เริ่มผลิดอกออกผล ทำให้มีกำไรที่ 79 ล้านบาท
สำหรับในปี 2567 ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 21,000 เพิ่มจากปี 2566 เล็กน้อย โดย 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 2567) มีรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท กำไร 31 ล้านบาท ธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด คือกลุ่มธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ ที่ 46.48% เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 3.34% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ
“ปริมาณงานธุรกิจขนส่งในประเทศปี 2567 เทียบกับ 2566 เติบโตอย่างน่าสนใจ เป็นผลจากความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทยที่เพิ่มสูงขึ้น 91.87% โดยบริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศโตที่ 18.45% ขณะที่บริการ EMS โต 8.07%”
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่างๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48%, กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 34.54%, กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 12.14%, กลุ่มบริการค้าปลีกภายใต้แบรนด์ ThailandPostMart และการเงิน 4.48%, กลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.85% และรายได้อื่นๆ 1.15%
ส่วนในปี 2568 ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้ง Physical ผ่านศูนย์บริการไปรษณีย์ทั่วประเทศและสุภาพบุรุษไปรษณีย์มากกว่า 25,000 คนและเครือข่าย Digital (ดิจิทัล) พร้อมร่วมกับพันธมิตรสร้างประโยชน์ในหลากมิติ ทั้งในและต่างประเทศครบวงจร
บริการดิจิทัลที่จะเป็นไฮไลต์ในปีหน้าและปีต่อไป ได้แก่ Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร มี Digital Postbox ตัวกลางในการรับส่งเอกสารหรือข้อมูลออนไลน์ระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน ปลอดภัยจากสแปมและมั่นใจได้ว่า มาจากบุคคลและองค์กรตัวจริง จากการรองรับการยืนยันตัวตนในระบบที่เชื่อถือได้ D/ID ซึ่งเป็น Post ID ส่วนบุคคลที่จะเริ่มใช้จริงต้นปี 2568 ด้วยระบบ QR CODE อันเป็นทางเลือกการจ่าหน้าจดหมาย พัสดุ ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ ด้วยระบบพิกัดบอกตำแหน่งที่แม่นยำ
การลุ้นได้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ร่วมกับ Sea Group (เจ้าของแพลตฟอร์มช้อปปี้) ธนาคารกรุงเทพ กลุ่มบีทีเอส และกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งจะประกาศผลกลางปี 2568 ยังจะเป็นก้าวย่างสำคัญของไปรษณีย์ไทยเช่นกัน โดยมองว่า Virtual Bank เป็นโอกาสใหม่ ในการต่อยอดบริการทางการเงินของไปรษณีย์ไทย ซึ่งให้บริการฝาก ถอน ชำระค่าบริการอยู่แล้ว
“ผมยังมีเป้าหมายทำให้ไปรษณีย์ไทย ไม่เป็นเพียงบริการขนส่ง เราไม่อยากให้คนไทยนึกถึงเราแค่ตอนจะส่งสินค้า แต่อยากให้นึกถึงตลอดเวลา นอกจากทำให้ไปรษณีย์ไทยในวัย 141 ดูเหมือนอายุ 14 แล้ว ผมยังอยากปั้นไปรษณีย์ไทยให้เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ในที่สุด เพราะถ้าอยู่ในชีวิตผู้คนได้ เขาจะนึกถึงเราตลอดเวลา”
ทิศทางดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จากการเปิดร้านกาแฟ Post Café แห่งแรกขึ้นที่ไปรษณีย์สามเสนในย่านสะพานควาย เพื่อให้แบรนด์เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น รวมทั้งการดำริเปิด Post Park ร่วมกับกลุ่ม ปตท. ภายใต้บริษัท OR ใช้พื้นที่ของไปรษณีย์ริมถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณศูนย์ราชการเฟส 4 เป็นศูนย์กลางสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Hub) ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งจะมีร้านกาแฟ Post Café และร้านค้าพันธมิตรอื่นๆ ให้บริการในรูปแบบใกล้เคียงคอมมูนิตี้มอลล์ด้วย
หมุดหมายสำคัญยิ่งอีกประการสำหรับไปรษณีย์ไทยจากนี้ คือการยกร่าง พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ซึ่งบังคับใช้มา 90 ปีแล้ว รัฐบาลจึงดำริให้แก้ไขปรับปรุงให้เท่าทันกับสถานการณ์ เดิมหลักกฎหมายฉบับนี้ บังคับใช้เฉพาะกับไปรษณีย์ไทย แต่ไม่บังคับใช้กับกิจการขนส่งอื่น ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาประกอบธุรกิจในราชอาณาจักร การยกร่างกฎหมายจึงมีสาระในการกำหนดกติกาที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการปกป้องตามกฎหมายจากบริการขนส่งที่ไม่ได้คุณภาพ หลอกลวง
“มองบนแผนที่ ประเทศไทยมีพื้นที่ขอบเขตอาณาบริเวณที่ชัดเจน แต่หากมองโดยใช้การปักหมุดแบบดิจิทัล ผมว่าอธิปไตยของประเทศแทบจะไม่เหลือแล้ว ข้อมูลของคนไทยถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่เราแห่กันเข้าไปใช้บริการของเขา ในธุรกิจขนส่งที่ไปรษณีย์ไทยให้บริการอยู่ ขนส่งต่างชาติเข้ามาให้บริการพ่วงกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มาจากต่างชาติเช่นกัน กินรวบไปหมด นี่เป็นปัญหาที่ทำให้เราต้องขยับไปเป็นแพลตฟอร์มด้วย ค่อยๆ ทำไป”
“กว่าผมจะเข้าไปเจรจาให้แพลตฟอร์มอย่างลาซาด้า ช้อปปี้ ส่งสินค้าผ่านเราบ้าง ไม่ใช่เรื่องง่าย เขายอมส่งผ่านเราบางส่วน แต่เราต้องทำตามเงื่อนไขเขา เหมือนเราเป็น Outsource แต่ละรายไม่เหมือนกัน 10 แพลตฟอร์มก็ 10 แบบ ก่อนหน้านี้เข้าไปเจรจากับแพลตฟอร์ม Temu เขายืนยันจะส่งผ่านขนส่งจากจีนเท่านั้น ทุกก้าวย่างมีแต่เรื่องไม่ง่าย แต่ไปรษณีย์ไทยจะยังยืนหยัด ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ไทย ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้”.
ทีมเศรษฐกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม