เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนโตพุ่ง 4.85 แสนล้าน สวนทางรายได้ “ครีเอเตอร์” ไม่ได้เยอะอย่างที่ฝัน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนโตพุ่ง 4.85 แสนล้าน สวนทางรายได้ “ครีเอเตอร์” ไม่ได้เยอะอย่างที่ฝัน

Date Time: 10 พ.ย. 2567 08:00 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • “ครีเอเตอร์” อาชีพในฝัน โตเร็วโตแรง ดันมูลค่าเศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนพุ่งสูงกว่า 4.85 แสนล้านบาท แต่ “ครีเอเตอร์” กลับได้เงินน้อย ต้องแบกรับค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่สูง การแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่น่าสับสน และความยุ่งยากในการจัดการบริการชำระเงินของบุคคลที่สาม

Latest


“อัปโหลดอันนี้ดีกว่า” “รีวิวอันนี้ดูหน่อย” เมื่อใคร ๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้

ดังนั้นหากลองถามเด็ก หรือวัยรุ่นในยุคนี้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คาดว่าอาชีพ YouTuber หรือ TikToker อาจเป็นหนึ่งในคำตอบยอดฮิตเป็นแน่ เพราะด้วยทุกวันนี้สื่อโซเชียลมีเดียแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา และแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ผลักดันให้ผู้สร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์เกิดใหม่ทุกวันและยังครอบคลุมช่วงวัยต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กิน เที่ยว แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ

โดยมีช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยเก๋าอย่างรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ต่างก็ใช้สื่อเหล่านี้มาเป็นพื้นที่แสดงความสามารถตามความสนใจและความเชี่ยวชาญของตนเอง

เห็นได้จากข้อมูลของ Linktree ที่ระบุว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวนมากถึง 9,000,000 คน หรือคิดเป็นราว ๆ 12.86% จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยมูลค่าของตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท ขณะที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 3% จากประชากรโลก

เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนโตแรง แต่ครีเอเตอร์กลับได้ไม่เยอะอย่างที่ฝัน

ด้วยทิศทางการเติบโตของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์นี้ ทำให้เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนพุ่งขึ้นสูงกว่า 4.85 แสนล้านบาท แต่รู้หรือไม่ว่า? แม้จะมีการเติบโตมูลค่ามหาศาล แต่ครีเอเตอร์กลับได้เงินเพียงน้อยนิด

โดยข้อมูลจาก Gank สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ระบุว่า ศิลปิน นักร้อง คอสเพลเยอร์ ทุ่มเทเวลาหลายชั่วโมงในการคิดและสร้างสรรค์ผลงานตัวเอง หลายคนไลฟ์สตรีมกันดึก ๆ ให้กับแฟนคลับหลายพันคนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ผ่านการบริหารจัดการโซเชียลมีเดีย มอนิเตอร์ทุกคอมเมนต์ ต่อสู้กับอัลกอริธึม เพื่อให้คนเห็นผลงานของตัวเอง ท่ามกลางคอนเทนต์มหาศาลบนโลกออนไลน์

แต่การแข่งขันที่ดุเดือดยังไม่ใช่อุปสรรคที่ท้าทายที่สุดสำหรับครีเอเตอร์ เพราะสิ่งที่ท้าทายมากสุดคือ รายได้ที่เหมาะสมกับการลงทุนลงแรง เนื่องจากครีเอเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีรายได้เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจคอนเทนต์ในภูมิภาค เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจคอนเทนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าสูงถึง 4.85 แสนล้านบาท แต่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ยังไม่สามารถสร้างรายได้อย่างเต็มที่

นั่นก็เพราะคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องแบกรับค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่สูง การแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่น่าสับสน และความยุ่งยากในการจัดการบริการชำระเงินของบุคคลที่สาม

Gank จึงมองว่า เรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้เลยที่ครีเอเตอร์ในภูมิภาคนี้กำลังสูญเสียศักยภาพในการสร้างรายได้มหาศาล ไม่สามารถสร้างรายได้ไม่เต็มจำนวนที่สมควรได้รับ ทั้งที่มีคนกว่า 500 ล้านคนที่ใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน

เช่นเดียวกันกับ สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด หรือ Tellscore ที่เคยระบุว่า การแข่งขันของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีความเข้มข้นขึ้น และตามมาด้วยมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น กลายเป็นปัจจัยที่แบรนด์พิจารณาควบคู่ไปกับราคา โดยแบรนด์จะพิจารณาการลงทุนในครีเอเตอร์ที่ไม่ใช่แค่หวังสร้างยอดวิวลอย ๆ แต่ต้องมีการวัดผลเป็นยอดขายที่จับต้องได้ ทำให้เม็ดเงินลงทุนในช่วงที่ผ่านมาหายไปจากตลาดเล็กน้อย

“ปัจจุบันตลาดคอนเทนต์จะแข่งขันสูง โดยมีจำนวนผู้รับชมคอนเทนต์เท่าเดิม แต่มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์เกิดขึ้นใหม่เรื่อย ๆ ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะ Oversupply แต่กลับมองเป็นตลาดที่มีการแข่งขันโดยสมบูรณ์แบบ”

ยกตัวอย่าง ปัจจุบันครีเอเตอร์ใน TikTok เริ่มปรับแนวทางสู่การไลฟ์ขายของมากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มหันมาผลักดันด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้น จากเดิมที่เป็นแค่แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเพื่อความบันเทิง เห็นได้จากการ “ติดตะกร้า” หรือ Affiliate Marketing ที่ครีเอเตอร์หันมาเอาดีด้านนี้กันเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้อาจกล่าวได้ว่า “คุณภาพของคอนเทนต์” และ “ครีเอเตอร์” ย่อมมีผลต่อการเลือกเสพสื่อของผู้บริโภค รวมทั้งมีส่วนต่ออำนาจการตัดสินใจของแบรนด์ในการจ้างงาน

เพราะแม้ว่าวันนี้เมื่อใคร ๆ จะเป็นครีเอเตอร์ได้ แต่อย่าลืมว่า ทุกอย่างย่อมมีต้นทุน และ “ค่าธรรมเนียมธุรกรรม” ที่สูง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ครีเอเตอร์ไม่ได้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นวันนี้หากครีเอเตอร์มีจุดแข็งที่ชัดเจน สามารถทำเงินได้หลายทาง อาจเป็นหนทางที่ดีกว่าของอาชีพนี้.

อ้างอิง cea , thairath ganknow

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ