ขาลงสินค้าแบรนด์เนม...ที่มีไทยเป็นหมุดหมายใหม่

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขาลงสินค้าแบรนด์เนม...ที่มีไทยเป็นหมุดหมายใหม่

Date Time: 24 ก.ย. 2567 07:20 น.

Summary

  • ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ เมื่อกลุ่ม LVMH ผู้นำตลาดสินค้าลักชัวรี ที่มีพอร์ตสินค้ามากกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมกลุ่มแฟชั่น อัญมณี เครื่องสำอาง น้ำหอม ไวน์ สุรา ได้แก่ แบรนด์หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton-LV) แบรนด์แชมเปญ Moët & Chandon (M) และแบรนด์คอนญัค Hennessy (H) ประกาศผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

Latest

ถอดความปัง “หมูเด้ง” โด่งดังข้ามซีกโลก แบรนด์แห่สร้าง Cute Marketing จับกระแสความน่ารักมัดใจด้อม

ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ เมื่อกลุ่ม LVMH ผู้นำตลาดสินค้าลักชัวรี ที่มีพอร์ตสินค้ามากกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมกลุ่มแฟชั่น อัญมณี เครื่องสำอาง น้ำหอม ไวน์ สุรา ได้แก่ แบรนด์หลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton-LV) แบรนด์แชมเปญ Moët & Chandon (M) และแบรนด์คอนญัค Hennessy (H) ประกาศผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

LVMH รายงานยอดขาย 41,700 ล้านยูโร โต 2% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ กำไรสุทธิ 7,300 ล้านยูโร ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มแฟชั่นและเครื่องหนัง กลุ่มไวน์และสุรา ซึ่งเป็นรายได้หลัก มียอดขายลดลง 9% จากความซบเซาในตลาดจีน ซึ่งเมื่อปี 2566 ครองสัดส่วน 16% ของยอดขายสินค้าแบรนด์เนมทั่วโลก

โฟกัสเฉพาะตลาดเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ยอดขายของ LVMH ลดลง 16% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการต่อต้านการแสดงออกถึงความร่ำรวยในช่วงที่ประชาชนจีนส่วนใหญ่กำลังประสบความยากลำบาก รัฐบาลสั่งปิดบัญชีโซเชียลมีเดียของอินฟลูเอนเซอร์ที่โชว์ใช้สินค้าแบรนด์เนม ก่อให้เกิดกระแสการใช้แบรนด์เนมแบบไม่ตะโกน (Quiet Luxury) และความอับอายในการใช้แบรนด์เนม (Luxury Shame) ทั่วประเทศ

ไม่เฉพาะ LVMH เท่านั้น Burberry จากอังกฤษ รายงานยอดขายในจีนแผ่นดินใหญ่ลดลง 20%, Swatch Group ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสที่มีแบรนด์ Blancpain, Longines และ Omega พบว่าครึ่งปีแรก 2567 ความต้องการในจีนที่อ่อนแอลง ทำให้ยอดขายร่วง 14.4%, ค่าย Richemont เจ้าของ Cartier รายงานยอดขายในจีน ฮ่องกง และมาเก๊าลดลง 27% เป็นต้น

ขณะที่ชาแนล (Chanel) แบรนด์หรูอันดับ 2 ของโลก รองจากหลุยส์วิตตอง อยู่ได้แบบสบายใจกว่า เพราะเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรายงานผลประกอบการรายไตรมาส ซึ่ง Leena Nair ซีอีโอของชาแนลที่มาจากยูนิลีเวอร์ เคยบอกกับสำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้อยู่อย่างอิสระ เมื่อไม่ต้องกระจายหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

แม้ในปี 2566 ชาแนลจะสามารถประกาศยอดขายทะลุ 22,000 ล้านยูโร รายได้โต 16% ก็ตาม แต่ Philippe Blondiaux ซีเอฟโอของชาแนล เห็นสัญญาณอันตราย ระบุ หลังการเติบโตโดดเด่นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปี 2567 จะเป็นปีที่ชาแนลต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มากขึ้น ความเห็นดังกล่าวทำให้ดัชนีสินค้าลักชัวรีของยุโรป The Euro Stoxx Luxury 10 ปรับลดลงทันที 1.9%

ท่ามกลางความสับสนอลหม่านในการสร้างรายได้ทดแทนส่วนที่ขาดหาย ตลาดสินค้าแบรนด์เนมในไทยยิ่งเฟื่องฟูดูไม่ซบ หลักฐานที่เป็นข้อพิสูจน์ว่าไทยกำลังเป็นหมุดหมายใหม่ ถูกเปิดเผยโดยบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย (Nielsen) ที่พบว่า ครึ่งปีแรกของปี 2567 เม็ดเงินโฆษณากลุ่มสินค้าแบรนด์เนมไฮเอนด์ในไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 214% เติบโตสูงที่สุดในเอเชีย ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่ 24% และอินโดนีเซียที่ 6%

โดยตลาดสินค้าแบรนด์เนมที่สำคัญประกอบด้วยฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย มียอดเม็ดเงินโฆษณารวมกันกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 47,600 ล้านบาท แบรนด์ที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเอเชีย 5 อันดับแรก คือ 1.Chanel 2.Christian Dior 3.Cartier 4.Rolex 5.Gucci โดยหากแยกเฉพาะตลาดประเทศไทย 5 แบรนด์ที่ใช้เงินสูงสุด ได้แก่ Chanel, Christian Dior, Swarovski, BVLGARI และ Coach โดยใช้เงินกว่า 82% ทุ่มให้กับสื่อนอกบ้าน (Out of home) หวังให้เตะตาเตะใจสาวกแบรนด์เนม

สอดคล้องกับการขยายร้านของเหล่าสินค้าแบรนด์เนมตามแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศไทย ตลอดจนการใช้คนดังชาวไทยเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ เชิญไปเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ๆทั่วโลก เพื่อสร้างอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มคนชั้นกลาง จึงน่าติดตามเหลือเกินว่า ความพยายามนี้จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังซบเซาอย่างยิ่งยวด.

ศุภิกา ยิ้มละมัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ