แทบจะขึ้นชื่อว่าเป็น “พัดลมที่มีทุกบ้าน” ก็คงไม่ผิดเพี้ยน เพราะด้วยการโลดแล่นอยู่ในตลาดมากว่า 34 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวตั้งแต่ยุคของ “จุน วนวิทย์” ผู้ก่อตั้ง มาถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานในปัจจุบัน ทำให้ “ฮาตาริ” (Hatari) แบรนด์พัดลมสัญชาติไทย ครองสัดส่วนการตลาดกว่า 80% สามารถแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่กับคู่แข่งทั้งในและต่างประเทศ ได้อย่างง่ายดาย
แต่ในวันนี้พัดลมสัญชาติไทยที่ชื่อละม้ายคล้ายมาจากญี่ปุ่น จะนอนกอดตำแหน่งการเป็นแบรนด์พัดลมอันดับ 1 ของประเทศ เพียงอย่างเดียวเห็นจะไม่ได้อีกต่อไป ชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานขายและการตลาด และ ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการวิจัยและพัฒนา สองพี่น้องในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ต้องลุกขึ้นมาปรับภาพลักษณ์แบรนด์ครั้งใหญ่ เพื่อให้ “ฮาตาริ” ดูเด็กลง และเป็นมากกว่าแค่พัดลมตั้งโต๊ะที่ใช้ในบ้าน
โดย ชัญญา เล่าว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่ได้มองหาแค่พัดลมขนาดใหญ่ ทน แรง เหมือนสมัยก่อน แต่มองหาสินค้าที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์และสะท้อนความเป็นตัวตนมากขึ้น เพราะด้วยขนาดของที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯ และหอพัก ดังนั้นพัดลมจึงต้องมีขนาดและดีไซน์ที่แตกต่าง นั่นคือ เล็กลงมา พกพาง่าย และดีไซน์ต้องเก๋ ขณะเดียวกันในอดีตฮาตาริ จะเน้นเจาะกลุ่ม B2B เป็นหลัก แต่มาวันนี้ได้มีการขยายไปสู่กลุ่ม B2C มากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
ส่วนภาพรวมตลาด ชัญญา มองว่าปีนี้ตลาดพัดลมยังคงทรงๆ โดยในช่วงที่ขายดีที่สุดคือช่วงหน้าร้อน ที่มียอดขายสูงกว่า 60% จากยอดขายทั้งหมด ดังนั้นหน้าฝนฮาตาริจึงพยายามทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ Cheer Stadium กลางกรุงฯ Kick off มหกรรมการส่งเสียงเชียร์ของคนไทยให้ดังไกลถึงโอลิมปิก ปารีส 2024
ในชื่อ “ฮาตาริ” #พัดไทยให้ไกลกว่าเดิม จากเหตุผลที่ว่า “ลม” นั้นมีส่วนที่ช่วยนำ “เสียง” ยิ่งลมแรงเท่าไร ยิ่งทำให้เสียงลอยไปไกลและชัดเจนขึ้นเท่านั้น เพื่อให้คนได้สัมผัสถึง Dynamic และ Movement ของฮาตาริที่แผ่วเบา เย็นสบาย แต่เปี่ยมพลัง พร้อมกับเปลี่ยนบรรยากาศให้เป็นสนามเชียร์กีฬากลางแจ้ง ที่ทุกคนจะได้เป็นทั้งกองเชียร์และนักกีฬา
พร้อมกับผสมผสานประสบการณ์เกี่ยวกับกีฬาเทควันโดและพลังของลม โดยไฮไลต์สำคัญคือ "The Iconic Kick Battle" ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ทดลองเตะเป้าที่ความสูงต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับระดับความแรงของลมจากพัดลมฮาตาริ รวมทั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ฮาตาริ ยังได้บุกตลาดพัดลมพกพาเป็นครั้งแรก ในชื่อ “Handy Wind” อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ถือเป็น Sport Marketing ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ในวันที่มีเพียงแค่เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยช่วงจังหวะดังเช่นที่ฮาตาริกำลังทำกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้เอง
“ที่ผ่านมาเราตั้งใจทำโปรดักต์อย่างเดียว แต่ไม่ได้มีการทำแคมเปญ ดังนั้นการหาจุดที่จะคอนเน็กต์กับผู้บริโภคยุคใหม่จึงค่อนข้างท้าทาย เพราะด้วยผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ตลาดที่มีทั้งไทยและต่างชาติ เข้ามาสู่ตลาดนี้มากขึ้น ฮาตาริจึงต้องรีแบรนด์พร้อมกับปรับเปลี่ยนหลายๆ อย่าง ทั้งโปรดักต์ รูปลักษณ์ต้องสวย เพื่อตอบโจทย์ pain point ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสี ปุ่ม การเปลี่ยนตำแหน่งมือจับ ทำให้ปัจจุบันฮาตาริมีสินค้าในพอร์ตกว่า 60 SKUs”
ส่วนอายุการใช้งานของฮาตาริส่วนใหญ่คือ 3 ปี แต่ข้อมูลพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้พัดลมนานถึง 5-7 ปี ตอบโจทย์ความทน สอดรับกับคำว่า “คนซื้อแล้วได้ใช้” ทั้งนี้คนไทยส่วนใหญ่จะซื้อพัดลมไว้สำหรับ 1 ห้องต่อ 1 ตัว
ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมาฮาตาริ มีรายได้อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท ส่วนในปี 67 ตั้งเป้าที่จะมียอดขายเติบโต 10% รวมทั้งขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า ฯลฯ และในครึ่งปีหลังของปี 67 คาดว่าจะออกโปรดักต์ใหม่ และรีดีไซน์รวมแล้วกว่า 5 รุ่น เพื่อตอกย้ำการเป็น “พัดลมที่อยู่คู่ครอบครัวไทย” เฉกเช่นที่เคยเป็นมา
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney