ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา “ธุรกิจร้านอาหาร” ถือเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูง เนื่องจากต้องฟันฝ่ากับอุปสรรค เริ่มจากมาตรการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวต่างชาติหดหาย เศรษฐกิจถดถอย คนไทยรัดเข็มขัดรายจ่ายมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ธุรกิจร้านอาหารหดตัว จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลาย คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ทำให้ธุรกิจร้านอาหาร กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง จนเกิดเป็นสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือด
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไมเนอร์ ฟู้ด” ที่ปัจจุบันมี Brand Portfolio ธุรกิจร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น The Pizza Company, Dairy Queen, Burger King, Bon Chon, The Coffee Club, GAGA, Swensen's ฯลฯ จะต้องขยับและปรับตัวเช่นกัน
ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในเซกเตอร์ใหญ่ของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศไทย ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 400,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นธุรกิจที่อยู่ในชีวิตประจำวันและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ซึ่งไมเนอร์ ฟู้ด เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ด้วยจำนวนร้านที่มีมากกว่า 2,600 แห่งใน 24 ประเทศทั่วโลก และในไทยกว่า 2,000 สาขา อีกทั้งกำลังจะขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการศึกษาตลาดในอินเดียเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริษัทฯ ต้องการเป็น Global Company มากขึ้น
แต่ปัจจุบันด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไมเนอร์ ฟู้ด ต้องปรับตัว รวมถึงมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ครอบคลุม เพี่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมาย อย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ
รวมทั้งมีการยกระดับประสบการณ์การรับประทานอาหารทั้งในร้านและแบบเดลิเวอรี การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่ง การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ Omnichannel เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการได้สะดวกยิ่งขึ้นรวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจมากที่สุด
ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะอาหาร การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น
ตลอดจนการพัฒนาทักษะบุคลากรและพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค จากการดำเนินงานที่มุ่งมั่นทั้งหมด เนื่องจากค่อนข้างให้ความสำคัญในเรื่อง ของ “Customer Focused” ทำให้ในปีที่ผ่านมา ไมเนอร์ทำยอดขายนิวไฮเติบโตดับเบิลดิจิต ฝั่งรายได้โต 13% กำไรโต 100% หลายๆ แบรนด์ทำได้ดีอย่าง Dairy Queen เห็นการเติบโตที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่เกิดโควิด
ส่วนสูตรการทำธุรกิจ ธันยเชษฐ์ มองว่า การทำธุรกิจไม่มีสูตรตายตัว ดังนั้นตลาดแบบเดิมๆ อาจจะไม่เวิร์ก ดังนั้น สิ่งที่ไมเนอร์ ฟู้ดทำคือ การวางแผนแนวทางการทำงานของทีมงานโดยที่ 70% ทำแบบเดิม ส่วน 20% ให้ลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น เมนูใหม่ และ 10% ให้ลองถูกลองผิดได้
ยกตัวอย่างเช่น การออกแบรนด์ใหม่ๆ คอนเซปต์ใหม่ๆ มาร์เก็ตติ้งแคมเปญ ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น เบอร์เกอร์คิง เรียลชีส 20 ชั้น, สเวนเซ่นฉลองวัน Earth Day ให้เอาภาชนะอะไรก็ได้มาใส่ไอศกรีม, The Pizza Company การันตีส่งไวที่ 20 นาที และโปรโมชัน พิซซ่าถาดกลางในราคา 99 บาท เพราะ “ลูกค้าต้องการอะไรใหม่ๆ” ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ อาจเอาไม่อยู่ ทีมจึงต้องมีความกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ ทำให้สิ่งที่ได้กลับไปคือ Data และเมื่อนั้น จะทำให้แบรนด์สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น และโอกาสในการซื้อก็จะตามมา
“ในช่วงปีสองปีที่เราเน้นทำแบรนดิ้งมากขึ้น ทำความเข้าใจปัญหาลูกค้า และดูว่าลูกค้าต้องการอะไร แบรนด์ใหม่จะมี Position อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น The Pizza Company ที่ลอนซ์โลโก้ใหม่ ปรับเมนู ดีไซน์ร้าน และยูนิฟอร์ม พบว่ามีเมนูไดอินที่เติบโตเป็นสองดิจิต หรือจะเป็น Dairy Queen ที่เปิด 'DQ Lounge' ก็มีคนเข้ามานั่งทานในร้านเพิ่มขึ้น”
ส่งผลให้ไมเนอร์ ฟู้ด สามารถคว้ารางวัล "สุดยอดการตลาด ประเภท Marketing 3.0" จากการเข้าร่วมแข่งขันในเวที Asia Marketing Excellence Award 2024 จากสหพันธ์การตลาดแห่งเอเชียซึ่งเป็นการยกย่ององค์กรที่มีกลยุทธ์การตลาดที่เป็นเลิศในทุกมิติ โดยคำนึงถึงผลลัพธ์เชิงบวกที่มีต่อผู้บริโภค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากความสำเร็จทางธุรกิจ
ทั้งนี้ในเรื่องของ “ต้นทุน” ธันยเชษฐ์ ฉายภาพว่า ผู้ประกอบการหลายรายได้รับผลกระทบ ในแง่ของราคาวัตถุดิบ ซึ่งไมเนอร์ก็ได้รับผลกระทบ แต่เรามีการบริหารจัดการที่ดีในการเจรจาต่อรอง และปรับตัว เนื่องจากเรามีทีม Global Sourcing จึงไม่กระทบมากนัก
“เรื่องเศรษฐกิจมันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นแบบนี้มานาน ซึ่งภาพรวมของไทยต้องทำยังไงก็ได้ให้การส่งออก ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ส่วนเรื่องของแต่ละบริษัทหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามดีมานด์ ก็จะยากที่จะยืนหยัดอยู่ต่อ ซึ่งการบริหารจัดการเรียกว่าไม่ง่าย ดังนั้นเราต้องไม่ทำอะไรแบบเดิม”
ทั้งนี้ ด้านเทรนด์ธุรกิจร้านอาหาร พบว่าลูกค้ากลับมานั่งกินที่ร้านมากขึ้น ส่วนเดลิเวอรีติดลบเล็กน้อย หากแบรนด์ใดมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแมสต้องบริหารจัดการให้ดี ส่วนกลุ่มที่โฟกัสลูกค้าพรีเมียมแมสกำลังซื้อยังคงมีอยู่
สุดท้ายนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ธันยเชษฐ์ มองว่า เทรนด์ของธุรกิจร้านอาหารในไทยมีมุมมองเป็นบวก สืบเนื่องมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้น ทำให้บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการเติบโตผ่านการเปิดสาขาเพิ่มเช่นเดียวกัน
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney