ต่างชาติ ถ่ายหนัง 1 เรื่องในไทย รายได้กว่า 3 พันล้าน ไปที่ไหนบ้าง? ปัจจุบันถ่ายทำแล้ว 214 เรื่อง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ต่างชาติ ถ่ายหนัง 1 เรื่องในไทย รายได้กว่า 3 พันล้าน ไปที่ไหนบ้าง? ปัจจุบันถ่ายทำแล้ว 214 เรื่อง

Date Time: 6 มิ.ย. 2567 14:00 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • รู้หรือไม่ แค่ปี 2567 ปีเดียว มีกองถ่ายเข้ามาใช้โลเคชันในประเทศไทยแล้วถึง 214 เรื่อง (ข้อมูลเดือน ม.ค.-พ.ค. 2567) สร้างรายได้ให้ไทยไปแล้วกว่า 3,431 ล้านบาท แล้วต่างชาติถ่ายหนัง 1 เรื่องในไทย เงินไหลไปที่ใดบ้าง? วันนี้ #ThairathMoney ชวนไปหาคำตอบกัน

Latest


เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประเทศไทย” ถือเป็นโลเคชันชั้นดี ที่ต่างชาติใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ โฆษณา หรือแม้กระทั่งซีรีส์ 

แต่รู้หรือไม่ว่า? แค่ปี 2567 ปีเดียว มีกองถ่ายเข้ามาใช้โลเคชันในประเทศไทยแล้วถึง 214 เรื่อง (ข้อมูลเดือน ม.ค.-พ.ค. 2567) สร้างรายได้ให้ไทยไปแล้วกว่า 3,431 ล้านบาท ส่วนเหตุผลหลักๆ ที่ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของกองถ่ายจากต่างประเทศนั้นเห็นจะเป็น ภูมิประเทศที่มีมิติความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งภูเขา ทะเล แหล่งน้ำ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น วัดโบราณ หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะท้อน Localize ได้เป็นอย่างดี และยังมีทีมงานคุณภาพ 

รวมทั้งรัฐบาลไทยยังได้ให้การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนเป็นสิทธิประโยชน์ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ตามมติ ครม. (7 ก.พ. 2566) 20-30% เป็นระยะเวลา 2 ปี จากเดิม 15-20% สิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกิน 10%  

รวมทั้งยังได้มีการเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนตร์ต่อเรื่องสูงขึ้นตามไปด้วย

กองถ่ายต่างประเทศ กับ การกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในไทย 

แล้วหนังต่างประเทศ 1 เรื่อง กระจายรายได้ไปที่ไหนบ้างในประเทศไทย? จากรายงานของ กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย 1 เรื่อง สามารถกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาครัฐสามารถเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ จากกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนการกระจายรายได้ ดังนี้ 

38% ค่าจ้างทีมงาน/นักแสดงชาวไทย (ประมาณ 3,398 ล้านบาท) 

ประสบการณ์และความทุ่มเทในการทำงานร่วมกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศของทีมงานชาวไทยได้รับคำชื่นชมจากคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะทีมงานฝ่ายศิลป์ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงาน และเนรมิตฉากถ่ายทำต่างๆ ได้ตามความต้องการของผู้ผลิตภาพยนตร์

ซึ่งในภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีสัดส่วนการจ้างงานทีมงานชาวไทยในหลากหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้กำกับ ผู้ช่วยผู้กำกับ ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายจัดหาสถานที่ถ่ายทำ ฝ่ายตัดต่อ แผนกช่างไฟ ช่างกล้อง แผนกเสื้อผ้าช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ฝ่ายจัดหานักแสดง นักแสดงสมทบ และผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น

22% ค่าเช่าอุปกรณ์การถ่ายทำ (ประมาณ 1,968 ล้านบาท) 

ประเทศไทยมีบริษัทผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและทันสมัย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูง ไฟประกอบฉาก รางสไลด์ รางดอลลี่ หรืออากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เป็นต้น

21% ค่าที่พัก/ค่าอาหาร/พาหนะเดินทาง (ประมาณ 1,878 ล้านบาท) 

เป็นภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยเฉพาะค่าที่พักของคณะถ่ายทำต่างประเทศทั้งในระดับ Luxury ที่พร้อมรองรับนักแสดง ผู้กำกับที่มีชื่อเสียงระดับโลก หรือที่พักในชุมชนที่เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ในส่วนค่าอาหารได้กระจายไปสู่ร้านอาหารท้องถิ่น หรือภัตตาคารหรู ทำให้เกิดธุรกิจจัดทำอาหารสำหรับกองถ่าย สำหรับค่าพาหนะเดินทาง ทั้งในส่วนของสายการบินที่เป็นนิติบุคคลไทย รถไฟ รถตู้ หรือยานพาหนะในท้องถิ่น ล้วนได้รับประโยชน์จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยทั้งสิ้น

10% ค่าใช้จ่ายโควิด-19 (ประมาณ 894 ล้านบาท) 

ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด อุตสาหกรรมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนให้มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยของชาวต่างชาติ แต่จำเป็นต้องการมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในกองถ่ายทำ ทำให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งในการตรวจหาและคัดกรองเชื้อโรค และค่าใช้จ่ายการกักตัวของคณะถ่ายทำต่างประเทศ เป็นต้น

9% ค่าเช่าสถานที่ถ่ายทำ (ประมาณ 805 ล้านบาท) 

ทั้งการเช่าสตูดิโอโรงถ่ายทำ พื้นที่ของเอกชน การถ่ายทำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ พื้นที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงสถานที่ถ่ายทำ ให้มีความพร้อมและสามารถรองรับคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในแต่ละค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังมีการจัดเก็บภาษีที่ภาครัฐได้รับโดยตรง (ประมาณ 536 ล้านบาท) โดยเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ยังไม่ได้รวมภาษีภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพากรกำหนดอีกด้วย

พ.ค. เดือนเดียว ไทยกวาดงบจากกองถ่ายต่างชาติไปกว่า 300 ล้านบาท

และจากข้อมูลยังพบว่า สถิติการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เดือน พ.ค.2567 มีจำนวน 43 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2 เรื่อง ส่วนงบประมาณการลงทุนอยู่ที่ 301.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 4 ล้านบาท 

โดยเป็นกลุ่มโฆษณามากที่สุด รองลงมาคือ สารคดี รายการท่องเที่ยว มิวสิกวิดีโอ ภาพยนตร์ และเรียลลิตี้ ตามลำดับ ส่วนประเทศที่เข้ามาใช้โลเคชันมากสุดคือ ฝรั่งเศส ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ขณะที่ 5 อันดับจังหวัดสุดฮอต ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี และนนทบุรี 

สะท้อนให้เห็นว่า “ธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ” ในประเทศไทยยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับ “ไทย” ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งมีการกระจายสู่ท้องถิ่นจนเกิดการจ้างงาน และยังเป็นการเผยแพร่ “โลเคชันประเทศไทย” ไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย และอีกจุดหนึ่งที่สำคัญคือ “องค์ความรู้” ที่มาจากรอบทิศยังถ่ายทอดมาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไทย” ก็มีดีไม่แพ้ชาติใดในโลกเช่นกัน.

อ้างอิง TFOThairath

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ