WUWM 2024 ตอกย้ำศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรภูมิภาค

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

WUWM 2024 ตอกย้ำศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรภูมิภาค

Date Time: 25 พ.ค. 2567 05:01 น.

Summary

  • ขณะนี้ประเทศไทยได้มีความพยายามในการตอกย้ำศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี WUWM Bangkok 2024 โดยสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก (World Union of Wholesale Markets : WUWM)

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรมีความสำคัญอย่างมากในหลายด้าน รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้าการเกษตร การลดความเสี่ยงและความผันผวนของราคา การลดต้นทุนการขนส่ง การส่งเสริมการส่งออก ไปจนถึงการสนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นและได้รับราคาที่เป็นธรรม

ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีความพยายามในการตอกย้ำศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี WUWM Bangkok 2024 โดยสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรโลก (World Union of Wholesale Markets : WUWM) ร่วมมือกับสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย (TAWMA) และตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นระหว่าง 13-15 พ.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

ความสำคัญของการประชุมนี้คือสมาคม WUWM มีสมาชิกกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และสมาคม TAWMA ซึ่งมีสมาชิกเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรและอาหารสด 17 ตลาดทั่วประเทศ ได้ร่วมกันแบ่งปันความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นในวงการตลาดค้าส่ง อันจะช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงตลาดได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้การค้าขายจากผู้ผลิต ผู้ค้า ไปถึงผู้บริโภคได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัยของสินค้าทางการเกษตรและอาหาร

ภายในงานดังกล่าว นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กล่าวร่วมพิธีเปิดงาน รวมทั้งนายสเตฟาน ลายานี ประธาน WUWM และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง และบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนด้วยกัน

ในการประชุมได้มีการนำเสนอและแบ่งปันองค์ความรู้ และประสบการณ์โดยผู้ค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดชั้นนำจากนานาประเทศ ตลอดจนข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับปัจจุบันและอนาคตของวงการค้าส่งผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสด อาทิ การทรานสฟอร์มทางด้านดิจิทัลสำหรับตลาดค้าส่งที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างโอกาสในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร การเดินหน้าขององค์กรสู่การเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน ปัจจัยแห่งความสำเร็จของผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียนที่จะเติบโตในตลาดโลก เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้ระบุถึงความพร้อมของไทยที่จะรองรับความต้องการของโลกในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดค้าส่งต่างๆ เพื่อตอกย้ำศักยภาพในฐานะศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรของภูมิภาค ในการนี้ตลาดไท ตั้งอยู่บนพื้นที่ 543 ไร่ ติดถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี ได้ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมนี้เข้าเยี่ยมชมตลาดต่างๆ พร้อมทั้งชิมผลไม้ประจำฤดูกาลของไทยและการชิมอาหาร สร้างความประทับใจให้กับผู้ร่วมงาน

นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายกสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย และผู้ถือหุ้นใหญ่ตลาดไท กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการประชุมว่า เทรนด์ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรและอาหารสดของโลกในอนาคตจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งดีมานด์ที่เยอะขึ้นนี้ ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดี เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค อีกทั้งยังมีการลงทุนมหาศาลทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีศักยภาพแฝงอื่นๆ ที่สามารถขยายโอกาสได้ รวมทั้งมีเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ

“แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่มีส่วนสำคัญมาก และไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก สำหรับข้าว น้ำตาล สับปะรด กลุ่มมะม่วง-มังคุด-ฝรั่ง กุ้ง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง และทุเรียน ทั้งนี้ การส่งออกผลผลิตทางการเกษตร และการเกษตรแปรรูปมีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทโดยเฉลี่ยเป็นการส่งออกอาหารประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้”

เมื่อมองในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศ มีประชากรรวมมากกว่า 660 ล้านคน และมีจีดีพีเกือบ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯแทบทุกประเทศ มีภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศ โดยไทยและอินโดนีเซีย มีการจ้างงานในภาคการเกษตร นับเป็น 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด หรืออย่างในประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น กัมพูชา และเมียนมา ภาคการเกษตรมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีของประเทศ

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะทะลุ 9,000 ล้านคนภายในปี พ.ศ.2593 เพิ่มขึ้นถึง 30% ดังนั้น เพื่อที่จะเป็นแหล่งอาหารให้กับประชากรได้อย่างเพียงพอ องค์การ FAO ประมาณการว่าจะต้องเพิ่มการผลิตอาหารให้มากขึ้นประมาณ 70%

สำหรับโอกาสไทย ถือว่ามีศักยภาพที่ดี พร้อมรองรับเทรนด์โลกในอนาคตได้ สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรและอาหารหลายๆอย่างได้เป็นอันดับต้นๆของโลก หากมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ และประสิทธิภาพในการทำการเกษตร

ด้านนายสเตฟาน ลายานี ประธาน WUWM ได้แสดงความตื่นเต้นที่ได้เห็นการผสานใช้เทคโนโลยีในวงการตลาดค้าส่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมองว่าช่วยทำให้ตลาดค้าส่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับการค้าขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารสด โดยหวังว่าไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคจะเดินหน้าไปในทิศทางตามเทรนด์ดังกล่าวนี้

นายฉู ตงหยู ผู้อำนวยการใหญ่ FAO กล่าวผ่านวิดีโอว่า หากตลาดค้าส่งอาหารดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของทุกส่วนในห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การเพิ่มการเข้าถึงตลาดสำหรับผู้ผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดจำหน่ายจากผู้ผลิตไปถึงผู้บริโภค

ส่วนนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางด้านสินค้าเกษตรและอาหารของภูมิภาคนี้ ดังนั้น จะต้องลงทุนต่อเนื่องในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เช่น สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน รวมถึงการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการเดินหน้าของภาคการค้าส่ง และภาคธุรกิจอื่นๆ กระทรวงการคลังจะดูเรื่องระบบภาษีด้วย เพื่อให้ธุรกิจต่างๆทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ซึ่งโดยภาพรวมแล้วศูนย์กลางค้าส่งสินค้าเกษตรจะมีการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น.


วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “ตลาดนัดหัวเขียว” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ