คนไทยเครียดเพิ่ม 2 เท่า ใน 6 ปี เหลื่อมล้ำ แข่งขันสูง ดัน วิตกกังวล-ซึมเศร้า มากสุด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยเครียดเพิ่ม 2 เท่า ใน 6 ปี เหลื่อมล้ำ แข่งขันสูง ดัน วิตกกังวล-ซึมเศร้า มากสุด

Date Time: 18 เม.ย. 2567 12:48 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ความสุขหล่นหาย กลายเป็นความเครียด ความเศร้า จากสถิติพบคนไทยเครียดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในรอบ 6 ปี โจทย์ใหญ่ “สุขภาพจิต” ที่ต้องมีทางออก หลังบุคลากรด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เอกชนไทย ต่างประเทศ ขานรับดีมานด์ เร่งขยายบริการ ต่อยอดสู่สถานพยาบาล คลินิกทางด้านสุขภาพจิตเพิ่ม

Latest


ความเครียด การแข่งขัน ร่องรอยความรุนแรง วิถีชีวิตอันเร่งรีบ ความเหลื่อมล้ำ ผิดหวังซ้ำซาก ปัญหาสังคม ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ตลอดจนการส่งต่อทางพันธุกรรมและยาเสพติด ล้วนเป็นจุดชนวนต้นตอของอาการ หรือโรคทางจิตใจ ที่ส่งผลให้ความสุขลดลง ก่อให้เกิดความสิ้นหวัง และนำมาสู่การไร้ซึ่งการควบคุมทางความคิด อารมณ์ พฤติกรรม จนเกิดเป็น “บาดแผล” และ “สูญเสีย” ในท้ายที่สุด 

ในที่นี้เรากำลังพูดถึงจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต จำนวน 4.4 ล้านคน จาก 2.5 ล้านคนในปี 2565 และในนี้เป็นผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา 2.8 หมื่นคน

ทั้งนี้ จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% 

เฉพาะเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูงถึง 24.83% ภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความเครียด ความเหนื่อยล้า การโดนล่วงละเมิดทางเพศบนออนไลน์ ทั้งนี้ ประเภทผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามารับการรักษา 5 อันดับ คือ 1. โรควิตกกังวล 2. โรคนอนไม่หลับ 3. โรคซึมเศร้า 4.โรคจิตเภท 5. โรคสมาธิสั้น และอื่นๆ 

ส่วนทางด้านจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตยังคงมีไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร นักจิตวิทยา (คลินิก) มีประมาณ 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร และพยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น ดังนั้น ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นอย่าง “ไร้ข้อโต้แย้ง” เลยว่า ไทย “ขาดแคลน” บุคลากรด้านสุขภาพจิตมากขนาดไหน? เพราะคำว่า “ไม่เพียงพอ” ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตเท่าที่ควร

‘จิตเวช’ ความเจ็บป่วยที่ถูกลืม 

โดยสาเหตุของคำว่า “ไม่เพียงพอ” คงต้องย้อนกลับไปดูว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร จำนวนประชากร วิชาเรียนที่ยากเกินไป กระบวนการผลิตจิตแพทย์ที่ทำได้ยากและใช้เวลานาน หรือผลตอบแทน ที่ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มาเรียนใช่หรือไม่? ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการ “คำตอบ” 

ทั้งนี้ ค่ารักษาพยาบาลก่อนใช้สิทธิเบิกจ่ายต่อครั้งมีความหลากหลาย ตั้งแต่ไม่เสียเลย ไปจนถึงมากสุดที่ 35,000 บาท โดยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 1,800 บาท ทำให้ตรงนี้เกิดช่องว่างของโอกาสอีกมาก หากจะเปรียบก็คงจะเหมือนกับน่านน้ำสีน้ำเงิน (Blue Ocean) ที่มีการแข่งขันเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย โดยไร้ซึ่งแรงกดดันด้านราคา เพราะผู้ป่วยและญาติยอมจ่าย หากสิ่งนั้นคุ้มค่ากับ “ผลลัพธ์” 

นั่นจึงทำให้ที่ผ่านมาเราจะเห็นสถานพยาบาลหลายแห่ง แตกแขนงสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่รองรับผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น อย่างเช่น Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) เครือข่ายโรงพยาบาลเวชธานี ที่เน้นการให้บริการเฉพาะทางแก่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต

หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์ หรือ EKH ที่ได้ร่วมทุนกับกลุ่มนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ สร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางสำหรับฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช 

ความสุขลด ดันความเครียดเพิ่ม

ล่าสุด Enomoto Clinic (เอะโนโมโตะ) คลินิกจิตเวชเฉพาะทางจากญี่ปุ่น ก็ได้ลงหลักปักฐานในไทยเช่นเดียวกัน ผ่านการให้บริการบำบัด รักษา ดูแล และฟื้นฟูผู้มีปัญหาประสาท เครียด นอนไม่หลับ และซึมเศร้า อันเป็นอาการเริ่มแรกของภาวะการติดสุรา การพนัน เกม ยาเสพติด ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ และส่งผลต่อการเจ็บป่วยต่อเนื่อง อันนำไปสู่โรคทางจิตเวชในที่สุด 

มิโนรุ เอะโนโมโตะ ผู้บริหาร Enomoto Clinic กล่าวว่า คลินิก่อตั้งมาประมาณ 30 ปี มีสาขารวม 8 แห่งในญี่ปุ่น มีคนมาใช้บริการประมาณ 1,000 คนต่อวัน และ 90% อาการดีขึ้น ส่วนสาเหตุของคนญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่ต้นตอมาจากการเครียด แบกงานหนัก ดื่มแอลกอฮอล์ วิตกกังวล 

ส่วนเหตุผลที่ขยายสาขามายังประเทศไทย เนื่องจากมองว่าคนไทยมีอาการทางจิตเวชเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในรอบ 6 ปี แบ่งเป็นระดับความรุนแรงมากสุดจะอยู่ที่ 3-4 แสนคน โดยสาเหตุหลักๆ มาจากพันธุกรรม และสารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน ส่วนที่เลือกประเทศไทยในการขยายสาขานั้น เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะใกล้เคียงกับญี่ปุ่น โดยมีแพลนที่จะขยายสาขา 2-3 สาขา ภายในปี 67 

โดยส่วนใหญ่จะเน้นโปรแกรมบำบัดแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น อาทิ โอริกามิ ศิลปะการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น, โอเทมาเอะ พิธีชงชาแบบญี่ปุ่น ฯลฯ 

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อดีมานด์ (คนไข้) มีเยอะกว่าซัพพลาย (แพทย์และสถานพยาบาล) จึงไม่แปลกที่ “ผู้เล่น” จากต่างชาติที่มองเห็นโอกาส และสบจังหวะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย เพราะนอกจากจะได้สัดส่วนเค้กก้อนนี้ไปแล้ว อีกแง่มุมหนึ่งของสิ่งที่ตามมาคือ แนวทางการรักษาที่หลากหลายที่ “ผู้ป่วย” สามารถเลือกได้ ซึ่งหนทางนี้จะนำไปสู่โอกาสที่คนไทยจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง rocketmedialab

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 


ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ