"ไม่รู้เหรอคนไทยหิวบุญขนาดไหน?" ถ้าคุณอ่านประโยคนี้จบแล้ว ก็พอจะเดาเรื่องราวที่เรากำลังจะเอ่ยถึงได้อย่างแน่นอน เพราะนาทีนี้คงไม่มีใคร ไม่รู้จักซีรีส์ไทยที่ "กล้า" หยิบยกประเด็นสังคมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มาทำให้เกิดกระแส "ร้อนแรง" ที่สุดได้เท่ากับ "สาธุ" ของ Netflix อีกแล้ว
ซึ่ง "สาธุ" นับเป็นซีรีส์ตีแผ่ด้านมืดพุทธพาณิชย์ วงการผ้าเหลือง ศาสนา และศรัทธา เพราะเมื่อมี "เงินตรา" "หนี้" เข้ามาเกี่ยว "ธุรกิจค้าบุญ" จึงบังเกิดขึ้นนั่นเอง แน่นอนว่าเมื่อซีรีส์นี้ถูกฉายออกไปก็เกิดกระแสพูดถึงกันอย่างหนาหูบนโลกโซเชียล อาจจะเพราะว่า "จี้ปม" ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างถูกจุด ด้วยเรื่องราวที่สะท้อนถึงปัญหาและความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาในมุมมองที่แตกต่าง ผ่านการรีแบรนดิ้ง "วัดซอมซ่อ" ให้กลายเป็น "วัดดัง" เพื่อมัดใจสาธุชนให้เกิดศรัทธา และนำมาซึ่งการ "ทุ่มทำบุญ"
โดยที่ผู้ชมอาจจะต้องใช้วิจารณญาณในการดู เพราะถึงขนาดที่ว่ามีการตั้งคำถามตั้งแต่ต้นเรื่องว่า "ถ้าเรื่องนี้ผิดกฎหมายจริง จับไหวเหรอ?" จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเข้มข้นตลอดทั้ง 9 ตอนชวนน่าติดตามเป็นอย่างมาก ทำให้กด Skip ไม่ได้เลย ไม่แปลกใจที่ซีรีส์เรื่องนี้จะฮิตติดลมบน พร้อมกับทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในไทย
ทั้งนี้หากย้อนกลับมาดูในโลกแห่งความเป็นจริงเราจะพบว่า "Faith Marketing" หรือการใช้ความเชื่อ ศรัทธา มาทำการตลาด ที่ส่วนใหญ่เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า Mu-keting เสียมากกว่า โดยการตลาดแนวนี้ถือได้ว่าเกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพราะด้วยความที่ "ความเชื่อ" กับ "คนไทย" ถือได้ว่าเป็นของคู่กัน ยิ่งในยามข้าวยาก หมากแพง "ที่พึ่งทางใจ" นอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นจะมีมูเตลูที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้กับคน ทำให้ที่ผ่านมามีธุรกิจมูเตลูเกิดขึ้นมากมาย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ล่าสุดจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า มีนิติบุคคลในธุรกิจความเชื่อความศรัทธา ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะใคร ต่างก็สนใจเรื่องมูเตลูกันทั้งสิ้น
หากย้อนกลับไปดูในอดีตจะพบว่าความศรัทธาที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อย่างวัตถุมงคล ล้วนมีทุกยุคทุกสมัย เริ่มจาก "จตุคามรามเทพ" เครื่องรางของขลัง จากแดนใต้ ที่ขึ้นชื่อเรื่องปัดเป่าภยันตราย นำมาซึ่งโชคลาภ ทำให้ในยุคหนึ่งจตุคามรามเทพมีมูลค่านับหมื่นล้าน
ต่อมาคือ "ตุ๊กตาลูกเทพ" ที่ครั้งหนึ่งเคยดังทั่วทั้งประเทศ คนดังต่างอุ้มพาไปเสมือนกับลูกคนนึง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องราง เรียกโชคลาภมาให้กับคนเลี้ยงแล้วนั้น ถึงขนาดที่ว่ามีการปลุกเสกทางคุณไสยนานัปการ จนครั้งหนึ่งราคาพุ่งสูงถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว
พอเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนที่พึ่งทางใจก็มาในรูปแบบของเครื่องประดับ อาทิ "ไลลา" แบรนด์วัตถุมงคลที่เป็นกระแสโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นการเพิ่มเติมแต่งเป็นกำไลในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้สวมใส่สามารถเลือกเองได้ ผ่านการเสริมใส่ตะกรุด พญาต่อ หรือสีผึ้งเข้าไป ของขลังสายเรียกทรัพย์ เงินทองไหลมาเทมา
หรือแม้กระทั่ง วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปไพ่ ผ้าปูที่นอนสีมงคล เครื่องประดับต่างๆ พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคล หมายเลขโทรศัพท์มงคล น้ำหอมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือจะเป็นการท่องเที่ยวสายมู อย่างทริปทัวร์ไหว้เก้าวัด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการตลาดที่อิงกับความเชื่อ และศรัทธาของคนทั้งสิ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ก็ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการตลาดนี้ด้วยเช่นกัน อาทิ กังหันนำโชคของฮ่องกง โอมาโมริ ถุงยันต์ญี่ปุ่น
ดังนั้นหากมองในมุมธุรกิจการจะพลิกสู่กลยุทธ์ได้นั้นอันดับแรกต้อง เข้าใจ insight คนก่อน ว่ากลุ่มคนที่สนใจเรื่องนี้มีเยอะแค่ไหน ควรทำธุรกิจนี้ไหม ที่สำคัญต้องออกแบบโปรดักต์ให้เข้ากับยุคสมัย และล้อไปกับกระแสปัจจุบัน มีเรื่องราวที่น่าสนใจ การหยิบยกตัวอย่าง รวมทั้งจะสื่อสารยังไงให้คนเข้าใจ ซึ่งตรงจุดนี้ต้องระวัง! เพราะการรักษาความน่าเชื่อถือ และความจริงใจต่อลูกค้า เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรก
ทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งนี้เป็นการ "สร้างความมั่นใจ ศรัทธา ความเชื่อ" หรือแค่ "กำลังทำให้งมงาย" เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่คนจะจำได้คือ "ตัวตน" ของโปรดักต์นั้นๆ มากกว่า "แบรนดิ้ง" เสียอีก