การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดตั้งแต่ปี 2563 ถือเป็นวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดของหลายภาคธุรกิจ รวมทั้งธุรกิจผลิตกระดาษของบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)
การปิดตัวลงของสถานศึกษา สถานที่ราชการ ทำให้ยอดใช้กระดาษลดฮวบฮาบ โดยเฉพาะกระดาษสำนักงานหรือกระดาษซีรอกซ์ ที่หลายคนเรียกกันอย่างเคยปาก ขณะที่กระดาษรีมใหญ่ กระดาษอาร์ต ที่ใช้พิมพ์นิตยสารมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาด จากความนิยมสื่อดิจิทัลที่เข้ามาแทนที่
ในขวบปีแรกของการแพร่ระบาด ดั๊บเบิ้ล เอถูกโควิดซัดเข้าอย่างจัง ไม่ต่างจากธุรกิจอนาล็อกอื่น ผลประกอบการปี 2563 ขาดทุน 1,058 ล้านบาท ลดลง 3,353 ล้านบาท หรือติดลบ 146% เมื่อเทียบกับผลกำไรในปี 2562 ที่ 2,295 ล้านบาท “จากที่คิดว่ากระดาษน่าจะยังอยู่ได้อีกสัก 20 ปี โควิดร่นเวลาทำให้ 20 ปีนั้นมาเร็วขึ้น ทีมงานต้องเร่งปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หันมาโฟกัส กำหนดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) ให้ชัด สร้างความแตกต่างในด้านบริการ จนมาถึงวันนี้แปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่เรารอดแล้ว”
ทีมงานที่ “เสรี จินตนเสรี” รองประธานกรรมการ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)เอ่ยถึง คือทีมพนักงานของดั๊บเบิ้ล เอ ภายใต้การบริหารของ “โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์” ในฐานะกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารบริษัท
ล่าสุดปี 2566 ดั๊บเบิ้ล เอมีรายได้รวม 23,642 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 786 ล้านบาท หรือ 84% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นกำไรที่เติบโตสร้างสถิติใหม่ อันเป็นผลมาจากกลยุทธ์ทางการตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า การบริหารต้นทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการมีฐานลูกค้าที่ มั่นคงใน 145 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันยอดขายทั้งหมดของดั๊บเบิ้ล เอมาจากตลาดในประเทศราว 20% ที่เหลือ 80% เป็นการส่งออกไปทั่วโลก ตลาดหลักอยู่ในเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รวมทั้งตะวันออกกลาง ที่มีลูกค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงทวีปแอฟริกา
ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดรองลงมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้ผ่านจุดพีกของการใช้กระดาษไปแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขาลง ต่างจากประเทศในแถบเอเชีย ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต “ประเทศในเอเชียยังมีการออกกฎระเบียบมากมาย รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เอกสารที่เป็นกระดาษยังจำเป็น ใช้เป็นหลักฐานการชำระเงิน (Proof of Payment) และทางกฎหมาย (Proof of Legal)”
นอกจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไปได้สวยแล้ว คู่แข่งในหลายประเทศที่ล้มหายตายจากไปกับโควิดยังทำให้สมรภูมิการแข่งขันเบาบางลง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันอย่างแข็งแกร่งก่อให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง ยกตัวอย่างในเกาหลีใต้ ซึ่งดั๊บเบิ้ล เอ เคยครองส่วนแบ่งตลาดกระดาษสำนักงานสูงแตะ 50% ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลถูกมองว่าทุ่มตลาด (Dumping) ขายราคาต่ำเกินไป จนต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ไม่เกิน 45%
ไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนได้อย่างเฉียบขาดหรือเพราะคู่แข่งเพลี่ยงพล้ำให้กับวิกฤติโควิดเพียงเท่านั้น ความสามารถในการแข่งขันของดั๊บเบิ้ล เอ ยังมาจากการวิจัยและพัฒนา(R&D) ในฐานะผู้ผลิตและ จำหน่ายเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนมาตลอด 30 ปีของการก่อตั้งบริษัท
เพราะธุรกิจผลิตกระดาษมี “วัตถุดิบ” เป็นหัวใจสำคัญ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงเพียรคิดค้น พัฒนาต้นกระดาษให้เป็นไม้ปลูก-วัตถุดิบยั่งยืน ไม่ใช้ไม้จากป่า โดยปัจจุบันต้นกระดาษถูกพัฒนาไปสู่สายพันธุ์ YD3 และ YD4 ซึ่งให้ไฟเบอร์สูง ทนแล้งได้ดีขึ้น เพื่อให้กระดาษของดั๊บเบิ้ล เอมีคุณภาพระดับโลก ด้วยเยื่อกระดาษ 37 ล้านไฟเบอร์ต่อแกรม เทียบกับกระดาษทั่วไปที่มี 13 ล้านไฟเบอร์ต่อแกรม จึงมีลักษณะเรียบ ลื่น เนียนกว่า
ดั๊บเบิ้ล เอ ยังลดการถือครองพื้นที่เพาะปลูกต้นกระดาษลงเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดขึ้น หันไปสนับสนุนเกษตรกรปลูกต้นกระดาษบนพื้นที่รกร้าง แปลงคันนา หรือนาดอน แล้วนำมาขายให้กับดั๊บเบิ้ล เอ สร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา ชลบุรี
การคิดค้นและพัฒนาแบบองค์รวมเช่นนี้ ทำให้กระดาษจากประเทศไทยโดยบริษัทดั๊บเบิ้ล เอ เป็น 1 ในสินค้าไทยเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถเอาชนะจีนในตลาดโลกได้ เพราะจีนต้องนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมดจากบราซิล ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า
ส่วนเมื่อถามถึงตลาดประเทศไทย รองประธานกรรมการของดั๊บเบิ้ล เอ บอกว่า ยังเติบโตอยู่แต่ไม่มากนัก ที่ยังโตได้เพราะประเทศไทยมีการออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ “การพัฒนากฎหมายคือการใช้กระดาษ”
เขามองว่า กระดาษจะยังอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีจากนี้ สิ่งที่จะเข้ามาดิสรัปหรือทำลายล้างได้คือเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งจะช่วยการันตีความถูกต้องให้กับหลักฐานสำคัญ ตราบใดที่ยังไม่มีการนำบล็อกเชนมาใช้อย่างแพร่หลาย กระดาษยังคงเป็นหลักฐานพิสูจน์สำคัญ ยืนยัน และน่าเชื่อถือที่สุด
แต่หากถึงวันที่กระดาษหมดไปจากโลก ดั๊บเบิ้ล เอ ซึ่งปัจจุบันขยายสู่ธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับการเติบโตใหม่ๆเอาไว้แล้ว มีเป้าหมายที่จะทำตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้อย่างแน่วแน่ นั่นคือ “กระดาษแผ่นสุดท้ายในออฟฟิศทั่วโลกจะต้องเป็นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ”
ศุภิกา ยิ้มละมัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม