หากเปิดกระเป๋าสตางค์ของแต่ละคนออกมาดู แน่นอนว่าคงจะมีเครื่องรางของขลัง ไม่สิ่งใดก็สิ่งหนึ่งอยู่ในนั้นเป็นแน่ นั่นก็เพราะการดูดวง แก้ชง บูชาของขลัง สีไหนดี เลขไหนปัง เสริมพลังบารมี แก้เคล็ดชะตา ล้วนเป็นพฤติกรรม “สายมูเตลู” ที่นับวันกลายเป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ต่างอะไรจากการไหว้พระทำบุญ นั่นก็เพราะ “ความเคว้งคว้าง” และ “ความจน” ทำให้เกิดการขวนขวายหาที่ยึดเกาะนั่นเอง
สอดคล้องกับข้อมูลของ บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด สถาบันวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ได้มีการเปิดผลสำรวจ "MY GEN MY MU" เจาะลึกพฤติกรรมการ "มูเตลู" ของคนไทยทุกวัย จากคำตอบของผู้เข้าร่วมทำแบบทดสอบกว่า 1,200 คน พบว่า 88% ของคนไทย เชื่อเรื่องการมู โดยเรื่องที่มาเด่นอันดับแรกๆ คือ "เงิน" และ "โชคลาภ" และทุก Gen ตั้งแต่ X Y Z ล้วนแต่มูทั้งนั้น
ตอกย้ำกับข้อมูลของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ระบุว่า ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา หรือธุรกิจสายมู เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
โดยธุรกิจได้เปลี่ยนความเชื่อความศรัทธาให้เป็นสินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ผ่านการนำศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า บริการ โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ หรือผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์ ความรู้สึกกับผู้บริโภค
ยกตัวอย่างเช่น วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือที่มีรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคลตามวันเกิดเดือนเกิด เครื่องประดับต่างๆ สร้อยข้อมือ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสก หรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมศิริมงคล หมายเลขโทรศัพท์มงคล
รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้านและห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ
โดยล่าสุดมีนิติบุคคลในธุรกิจความเชื่อความศรัทธา ที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย คิดเป็นสัดส่วน 80.60% และ 19.40% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ
ขณะที่ทุนจดทะเบียนรวมแบ่งเป็น บริษัทจำกัด 116.64 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 19.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.83% และ 14.17% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ และทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยสัญชาติไทย
อย่างไรก็ตามหากแบ่งสัดส่วนจะพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 46.27% ที่เหลืออยู่ในภาคกลาง 26.12% ภาคตะวันออก 9.70% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.22% ภาคเหนือ 5.22% ภาคใต้ 4.48% และภาคตะวันตก 2.99% ของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “มูเตลู” ไม่เคยห่างหายไปจากสังคมไทย ซ้ำยังดันเศรษฐกิจไทยให้คึกคัก กวาดรายได้ปีละหลายล้านบาท ก่อให้เกิดธุรกิจดาวรุ่งแนวใหม่ที่เรียกได้ว่า ตอบสนองไลฟ์สไตล์คน “เจนมู” ได้เป็นอย่างดี.
อ้างอิง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney