ท่ามกลางแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ หนึ่งในทางเลือกที่ช่วยรักษาอัตรากำไรให้คงอยู่ คือ การปรับราคาขายสินค้าเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้าขาย นั่นจึงจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ อย่างไรก็ดีการปรับราคาต้องถือหลัก “ราคาที่สมเหตุสมผล และลูกค้ายอมรับได้” เนื่องจากการปรับราคาขายขึ้นย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของลูกค้า ซึ่งอาจทำให้สูญเสียลูกค้าในระยะยาวได้
แต่กระนั้นภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจ ค่าครองชีพพุ่ง เงินเฟ้อสูง หนี้ท่วม ยังมีอีกสองแบรนด์ที่ประกาศลดราคาสวนกระแส และยังคงปริมาณเท่าเดิม นั่นคือ ไก่ย่าง 5 ดาว แบรนด์ไก่ย่างยอดนิยมที่เสิร์ฟความอร่อยให้คนไทยมานานถึง 38 ปี และ แจ็คแอนด์จิล ในฐานะผู้บุกเบิกขนมยอดฮิตหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น ฟันโอ ทิวลี่ ที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 31 ปี
ซึ่งหากว่ากันตามตรงสองแบรนด์นี้ถือเป็นสินค้าในกลุ่มอุปโภคและบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ปรับราคาลงกันดูได้จากหลากหลายแบรนด์ที่มีการขอปรับขึ้นราคาทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปรับราคาขึ้น 1 บาท หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มชูกำลังที่ก่อนหน้านี้ได้ขยับราคาจาก 10 บาทเป็น 12 บาท กลับกันราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไข่ไก่และข้าวที่ปรับลดลง
ทั้งนี้ การประกาศลดราคาครั้งใหญ่ของ “ไก่ย่างห้าดาว” 4-10 บาท อย่างเช่น ไก่ย่างพริกไทยดำ (ตัว) ลดเหลือ 175 บาท จากปกติ 185 บาท เป็นผลมาจาก ต้นทุนวัตถุดิบลดลง โดยระบุว่า บริษัทฯ ขอแจ้งการปรับลดราคาจำหน่ายผู้บริโภค มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป โดยโครงสร้างราคาใหม่นี้ผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกำไรเท่าเดิม ทั้งนี้การปรับลดราคาต้นทุนวัตถุดิบมีผลตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567
ส่วนทางด้าน “แจ็คแอนด์จิล” (Jack'n Jill) ก็ได้ระบุว่า หลังจากที่สินค้ามีต้นทุนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผลกระทบน้อยลง จึงอยากที่จะกระตุ้นตลาด โดยการเปลี่ยนสินค้าให้กลับมาเหมือนเดิม จากเดิมที่ฟันโอเคยปรับปริมาณเป็น 4 ชิ้น ในราคา 5 บาท ปัจจุบันกลับมาเป็น 6 ชิ้น 5 บาท ส่วนทิวลี่เคยปรับราคาขึ้นเป็น 3 บาท ปัจจุบันกลับมา 2 ชิ้น 2 บาท ตามเดิม
ขณะที่สาเหตุนั้นมาจากต้นทุนวัตถุดิบปรับราคาลดลง สินค้าจึงโหมลดราคาลงตามไปด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการตามสัดส่วนการบริโภคเดือนมกราคมที่ผ่านมา Top 5 ที่ปรับราคาลงไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ -15.4%, น้ำมันเชื้อเพลิง -6.3%, ผักสด -7.5%, ค่าไฟฟ้า -4.8%, ผลไม้สด -0.5%
ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า “การลดราคาสินค้า” ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาตรการเพื่อช่วยกระเตื้องกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างเช่นที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกาศลดค่าครองชีพ โดยให้กรมการค้าภายในวิเคราะห์ "ต้นทุนสินค้า" เป็นรายของสินค้าสินค้าอุปโภค-บริโภค เพื่อจี้ผู้ผลิตปรับลดราคา
แต่ท้ายที่สุด แล้วก็ขึ้นอยู่กับ “ผู้ประกอบการ” ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าแต่ละตัวที่มีต้นทุนแตกต่างกันออกไปว่าจะแบกรับภาระของ “ต้นทุน” ต่างๆ ได้หรือไม่ หากมีการลดลงดังเช่นที่กล่าวไปข้างต้น แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายได้ก็ย่อมเทใจไปให้กับการ “ลดราคา” อย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะ “ขายดี ขายเกลี้ยง” แล้วนั้น ยังเป็นการสร้างภาพจำต่อแบรนด์ ของ “ผู้บริโภค” ด้วยเช่นกัน ผ่านแนวคิดที่ว่า “ยุคนี้จะขายได้” ต้องรู้จักเอาใจลูกค้า
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney