ธุรกิจค้าปลีกประเดิมศักราชปีใหม่ด้วยบรรยากาศความคึกคักจากเทศกาลตั้งแต่ช่วงปลายปีเป็นต้นมา และถูกมองว่าจะถูกลากยาวต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ด้วยมาตรการอัดฉีดของภาครัฐและกลุ่มธุรกิจที่ร่วมกันอัดโปรเพื่อช่วงชิงยอดขายกัน
แม้ว่าผู้ประกอบการหลายๆรายที่ออกมาระบุว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคได้ฟื้นตัวกลับมาดีกว่าก่อนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือกำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วประเทศโดยเฉพาะในต่างจังหวัดค่อยๆทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย แต่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องระมัดระวังไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อรวมทั้งภาวะว่างงาน
ซึ่งภาครัฐเองก็มองเห็นจึงเร่งมาตรการฟื้นฟูกำลังซื้อตั้งแต่ต้นปี ด้วยมาตรการ Easy E-Receipt ให้กลุ่มคนที่มีรายได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า และบริการภายในประเทศ จนถึงวันที่ 15 ก.พ.67 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice&e-Receipt ของกรรมสรรพากร
มาตรการดังกล่าวรัฐต้องการเร่งการบริโภคในประเทศ พร้อมกับสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีให้ใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ยกเว้นสินค้าบางรายการ อาทิสินค้าจำพวกสุรา ยาสูบต่างๆและสินค้าอื่นๆ
ผู้มีรายได้สูงและเสียภาษีขั้นสูงสุดจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ได้รับเงินภาษีคืนสูงสุดที่ 17,500 บาท เมื่อช็อปปิ้งสินค้าครบ 50,000 บาท กลุ่มนี้ต้องมีรายได้มากกว่าปีละ 5 ล้านบาท ชำระภาษีอัตรา 35% ไล่มาจนถึงผู้มีรายได้ปีละ 3 แสน-5 แสนบาท ชำระภาษีอัตรา 5% จะขอคืนภาษีได้ 2,500 บาท หากช็อปปิ้ง 50,000 บาท
ส่วนประชาชนผู้มีรายได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้วไม่เข้าข่ายได้รับประโยชน์ในมาตรการนี้ แม้ว่าช่วงนี้จะยังดูไม่คึกคักเท่าไรนัก แต่หากจะมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา มาตรการเดียวกันนี้ของรัฐบาลก่อนภายใต้ชื่อ “ช็อปดีมีคืน” จะมีสีสันบรรยา กาศแห่กันช็อปปิ้งกันคึกคักในช่วงวันสุดท้ายของมาตรการ
อย่างไรก็ตาม มาตรการใหญ่ของรัฐคือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นนโยบายการแจกเงินให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป มูลค่า 10,000 บาท ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้ว แต่ทางรัฐยังยืนยันว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงเดือน พ.ค.67 เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ปัญหาอุปสรรคท้าทายรัฐบาลก็คือความท้าทายทางกฏหมายที่อาจทำให้โครงการถูกยกเลิกไปหรือปรับลดขนาดลงอย่างมาก ขณะที่ความ ไม่พร้อมของระบบร้านค้าอาจจะทำให้การใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตไม่สะดวก หรือไม่มีประสิทธิภาพ บ้างร้านอาจไม่มีระบบรองรับการชำระเงินหรือมีปัญหาการเชื่อมต่อออนไลน์และการยืนยันตัวตน เป็นต้น รวมไปถึงความไม่ชัดเจนการจับจ่ายด้วยดิจิทัลวอลเล็ตที่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ไหนได้บ้าง
ดัชนีความเชื่อมันผู้ประกอบการค้าปลีกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมค้าปลีกไทยได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากทุกองค์ประกอบจากการจัดโปรโมชันของ ร้านค้าในช่วงท้ายปี ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคได้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ได้ปรับขึ้นเล็กน้อยซึ่งต้องรอทางสมาคมค้าปลีกไทยเปิดตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งในภาพรวมร้านค้าทุกประเภทมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและความเชื่อมั่นดีขึ้นในทุกภูมิภาคยกเว้นห้างสรรพสินค้าที่ปรับตัวลงเล็กน้อย
สำหรับภาพรวมแนวโน้มค้าปลีกไทยในปีนี้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การแข่งขันกีฬาในระดับโลก ทั้งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและฟุตบอลยูโร ราคาสินค้า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุด มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล
ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปีนี้ธุรกิจค้าปลีกน่าจะขยายตัวราว 4.0-5.0% (ไม่รวมกับมาตรการรัฐ) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นตัวเลขในระดับสูงกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ที่รัฐคาดว่าจะอยู่ในระดับ 2.7-3.7%
หากรวมมาตรการรัฐที่จะออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะดิจิทัลวอลเล็ตหากเกิดได้จริงอาจได้เห็นการหมุนเวียนของเม็ดเงินในชุมชนครั้งใหญ่!!
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่