สหวิริยาสตีล รุกเต็มสูบ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สหวิริยาสตีล รุกเต็มสูบ

Date Time: 26 ธ.ค. 2566 05:36 น.

Summary

  • ยืนหยัดในอุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทยมา 33 ปีแล้วสำหรับบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสเอสไอ” (SSI) อันเป็นบริษัทในเครือสหวิริยา มีโรงงานตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

ยืนหยัดในอุตสาหกรรมเหล็กประเทศไทยมา 33 ปีแล้วสำหรับบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสเอสไอ” (SSI) อันเป็นบริษัทในเครือสหวิริยา มีโรงงานตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง คือ คุณหญิงประภา วิริยประไพกิจ–นายวิทย์ วิริยประไพกิจ ตำนานบุคคลวงการเหล็กของไทย

นับเป็นบริษัทเหล็กไทยที่สร้างความภาคภูมิใจหลายประการ โดยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister Best Industry Award) ตั้งแต่ปี 2546 และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) อีกมากมาย

ปัจจุบัน เอสเอสไอ มีนายวิน วิริยประไพกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม (Group CEO)

เมื่อปี 2554 เอสเอสไอได้เป็นข่าวใหญ่ในวงการเหล็กโลก โดยลงทุนซื้อโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กกล้าครบวงจรที่อังกฤษ แล้วจัดตั้งเป็น บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ยูเค หรือ “เอสเอสไอ ยูเค” (SSI UK) และได้ดำเนินธุรกิจผลิตเหล็กแท่งแบน (Slab) ที่อังกฤษ เป็นปริมาณกว่า 5 ล้านตัน

แต่กลับต้องปิดดำเนินการเมื่อปลายปี 2558 เนื่องจากตลาดเหล็กโลกปั่นป่วนและราคาเหล็กตกต่ำรุนแรงจากการส่งออกสินค้าเหล็กจากจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 110 ล้านตัน ในปี 2558

เอสเอสไอ ซึ่งรับภาระหนี้ต่างๆ จากกรณี เอสเอสไอ ยูเค จึงต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อปี 2559 ให้ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งเอสเอสไอเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการและเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งเนื่องมาจากการสนับสนุนและความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ ต่อนายวิน วิริยประไพกิจ และคณะกรรมการบริษัทของ เอสเอสไอ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภายใต้ช่วงฟื้นฟูกิจการ แม้ต้องเจอภาวะการณ์ยากลำบากต่างๆสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก ได้แก่ การชะงักงันทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ผลกระทบด้านวัตถุดิบจากสงครามยูเครน–รัสเซีย

แต่เอสเอสไอยังดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างต่อเนื่องบรรลุผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ครบทุกข้อนั่นคือ

1.ชำระหนี้เงินต้นคงค้างให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 11,269 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.16 ของภาระหนี้เงินต้นรวมที่ต้องชำระ

2.ชำระหนี้เงินต้นคงค้างจากกระแสเงินสดส่วนเกิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,563 ล้านบาท

3.ชำระหนี้ตามแผนของแผนฟื้นฟูกิจการโดยไม่ผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่าระยะเวลา 34 เดือน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

และ 4.ผู้บริหารแผนและบรรดาเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหนี้คงค้างของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมีความเห็นร่วมกันว่า เอสเอสไอมีศักยภาพและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังจากออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

เอสเอสไอได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการจากการบริหารสำเร็จตามแผน ทั้งนี้ เอสเอสไอยังมีหนี้คงเหลือที่ต้องดำเนินการชำระต่อไปตามข้อตกลงกับเจ้าหนี้

ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงจนเป็นวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย หลายบริษัทเหล็กของคนไทยถูกซื้อกิจการกลายเป็นบริษัทเหล็กของต่างชาติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และมีบางบริษัทที่ต้องปิดกิจการลง แต่เอสเอสไอ ภายใต้การนำของนายวิน วิริยประไพกิจ ยังเป็นหนึ่งบริษัทเหล็กของคนไทยที่ยืนหยัดมาได้ แม้ต้องเผชิญความท้าทายมากเพียงใดก็ตาม โดยสามารถผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคุณภาพสูงป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ก่อสร้าง ตลอดจนส่งออกจนมีผลผลิตสะสมมากเกินกว่า 40 ล้านตันแล้ว อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง

จนเป็นบริษัทเหล็กแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรม ISO 56002, มาตรฐานระบบบริหารการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development management System : RDIMS) จาก สวทช., องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization : CALO) ระดับ Bronze

และล่าสุดได้รับรางวัลรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) ปี 2566 ประเภทการเพิ่มผลผลิต (Productivity) และประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

อย่างไรก็ตาม เอสเอสไอและนายวิน วิริยประไพกิจ ยังเดินหน้าสู้ต่อกับโจทย์ความท้าทายใหม่ ทั้ง 1.การพัฒนากระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามทิศทางโลกคาร์บอนต่ำ

และ 2. การแข่งขันกับเหล็กจากจีนที่กำลังหลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) อัตรา 30.91% โดยเจือสารอัลลอยในเหล็กแผ่นรีดร้อนเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรเข้ามาทุ่มตลาดประเทศไทย ปริมาณมากเกือบ 5 แสนตัน ในปี 2566 นี้ และอากร AD

ที่ประเทศไทยสูญเสียจากการหลบเลี่ยงนี้มีมูลค่าราว 3,500 ล้านบาทต่อปี!!!

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ