“แบรนด์” จะอยู่ได้ต้องอาศัย “การโฆษณา” คำนี้ยังใช้ได้จริงหรือไม่? จากข้อมูล MI GROUP มีการคาดการณ์ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในไทยในปี 2567 ว่าจะอยู่ที่ 87,960 ล้านบาท เติบโตขึ้นเพียง 4% จากปี 2566 อยู่ที่ 84,500 ล้านบาท เติบโต 4.4% ด้วยอานิสงส์จากปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งแนวโน้มการถดถอยต่อเนื่องของสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ โดยสื่อที่จะเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องคือ “สื่อออนไลน์” และ “สื่อนอกบ้าน” (OOH) ในขณะที่สื่อประเภทอื่นมีแนวโน้ม ทรงตัวและถดถอย
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป จํากัด เปิดเผยว่า เมื่อฝั่งอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์เติบโตแรงติดจรวด แต่สื่อดั้งเดิมแทบไม่กระเตื้องทำให้สื่อ “ทีวี” ถูกแบ่งเม็ดเงินไปยังแพลตฟอร์มอื่นมากขึ้น
เห็นได้จากกลุ่มรถยนต์ที่ผันตัวไปใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายราย ส่วนสื่อดั้งเดิมหากดูจากตัวเลขแทบไม่เติบโต โดยสื่อทีวีปี 2566 ติดลบ 9% ซึ่งมูลค่าการใช้งบลงทุนโฆษณาลดจาก 17,101 ล้านบาท ในปี 2565 อยู่ที่ 15,596 ล้านบาท
โดยถูกแบ่งการใช้เงินไปยังสื่อออนไลน์ที่ในปี2566 เติบโต 12% มูลค่าเพิ่มจาก 23,609 ล้านบาท เป็น 26,368 ล้านบาท ส่วนสื่อที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น “ยูทูบ” (YouTube) และ “สตรีมมิง” (Streaming Service) ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การลงโฆษณาได้ใกล้เคียงกับสื่อทีวีมากสุด ทำให้การเติบโตของ YouTube, Streaming Platforms และ TikTok รวมไปถึงเหล่า Digital Content Creator เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของสื่อออนไลน์ในปี 2567 นั่นเอง
ทั้งนี้จากข้อมูล Nielsen ระบุว่า 10 อันดับแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด ได้แก่ ยาสีฟันเทพไทย, Shopee, Pepsi, Enfragow, NIVEA, KFC, NEUROBIO, ISUZU, Dove และ CLEAR แต่ทั้งนี้แบรนด์ที่มีการเพิ่มงบโฆษณาในปี 2567 ขึ้นจากปี 2566 ได้แก่ Enfragow อยู่ที่ 68%, NIVEA 8%, KFC 21%, Dove 36% และ CLEAR 36%
ปัจจุบันการใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ที่ใหญ่สุดยังเป็น Meta (FB & IG) มูลค่า 8,183 ล้านบาท สัดส่วน 28%, Youtube 4,751 ล้านบาท สัดส่วน 16% ,Online VDO 2,254 ล้านบาท สัดส่วน 8% ตามมาด้วย Social Media 2,153 ล้านบาท 7%, Creative 2,151 ล้านบาท 7%, TikTok 2,048 ล้านบาท 7% เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าปี 2567 สื่อออนไลน์จะมีการปรับค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสื่อ KOL หรือ อินฟลูเอนเซอร์ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากค่ารีวิวสินค้าแล้วนั้น บางรายอาจได้รับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของแบรนด์นั้นๆ อีกด้วย ขณะที่สื่อโทรทัศน์คาดว่าจะไม่ปรับขึ้นค่าโฆษณา และอาจปรับลดราคาหรือเพิ่มแพ็กเกจมากขึ้น
สุดท้ายเทรนด์เทคโนโลยีการสื่อสารการตลาดที่ถูกพูดถึงและอยู่ในกระแสมากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ “Generative AI” & “Marketing Technology” เนื่องจากส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค การเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง “นักการตลาด” ต้องเกาะติดและนำมาวิเคราะห์ร่วมในการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพรอบด้านไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก ข้อมูลเพื่อความแม่นยำในการเจาะหากลุ่มเป้าหมายการสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างยอดขายจากฐานข้อมูล และช่องทางการขายใหม่ๆ นั่นเอง