จนกลายเป็นไอเดีย ยาดมกลิ่นกาแฟ ที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับการดื่ม สดชื่น ตื่นตัว แบบไร้คาเฟอีน ไม่ใจสั่น ภายใต้ชื่อ ‘ดมตะ’
เมื่อได้ไอเดีย เพชรจึงนำไอเดียนี้ไปพูดคุยกับอาจารย์ เพื่อที่จะทำเป็นโปรเจกต์ จะทำเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์จบการศึกษา แต่อาจารย์ให้คำแนะนำว่าโปรเจกต์นี้อาจจะใช้ระยะเวลานาน และค่อนข้างเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ เขาจึงพับโปรเจกต์ไป
จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่โควิดกำลังแพร่ระบาดพอดี ทำให้เขาหางานประจำได้ยาก จึงมีแนวคิดที่จะนำทำโปรเจกต์ ‘ดมตะ’ มาปัดฝุ่น
โดยเริ่มจากการหาข้อมูลงานวิจัยว่าในกาแฟมีอะไรที่จะช่วยให้สดชื่นและตื่นตัวได้โดยไม่ต้องดื่มนำคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย พร้อมทั้งยังได้เดินหน้า Pitching เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 100,000 บาท ภายใต้โครงการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurial Ecosystem Development) ของทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจผลปรากฏว่าสามารถคว้าเงินรางวัลมาครอบครองได้ในที่สุด
และเมื่อได้เงินทุนมา เพชรจึงนำไปใช้ในการทดสอบเพื่อให้ได้มาซึ่ง Essential Oils จากกาแฟซึ่งวิธี สกัดน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกาแฟ ถือเป็นเรื่องที่ยาก จนมาพบกับทางอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้รู้การสกัดด้วยวิธี Super Critical CO2 จากนั้นจึงได้จับมือกับทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องของการทำอุตสาหกรรมตรงนี้ เนื่องจากมีโรงงานต้นแบบจึงได้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากกาแฟ และตรงนี้เองได้กลายเป็นจุดกำเนิด “ดมตะ” ขึ้นมาโดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนารวมกว่า 3 ปี แต่มีสินค้าที่จำหน่ายจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) และออกตลาดที่งาน Thailand Coffee Fest เป็นงานแรก
ส่วนโปรดักต์หลักๆ ของดมตะจะแบ่งออกเป็น
1. กาแฟแบบดม
2. ถุงหอมไล่ความง่วง (เป็นการนำกากกาแฟ หรือ Waste ที่ได้จากการสกัดน้ำมันหอมระเหยมาเพิ่มมูลค่า เพราะกากกาแฟของดมตะจะต่างจากกากกาแฟในร้านทั่วไป ที่สกัดผ่านน้ำ แต่ของดมตะเป็นการสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้กากกาแฟไม่มีความชื้น เก็บได้นาน ไม่ขึ้นรา ส่วนคอนเซปต์มาจากตุ๊กตาไล่ฝนของญี่ปุ่น ที่แขวนตามชายคาบ้าน)
3. ตะเกียงน้ำมันหอมระเหย
4. ยาดมกลิ่นชา
“การคัดสรรกาแฟที่นำมาสกัดจะเป็นการเลือกจากฟีดแบ็กของลูกค้าว่าชอบกลิ่นประมาณไหน และเลือกจากไร่ที่ได้รับ Speciality Coffee Rank 3 จากนั้นนำเมล็ดกาแฟของไร่มาสกัด เพราะมองว่ากลิ่นจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี” เพชร กล่าว
ส่วนที่ว่าไม่ได้มีแค่ “กาแฟ” เนื่องจากลูกค้า อยากจะได้ตัวที่ช่วยเรื่องความผ่อนคลาย ดังนั้นด้วยประโยชน์ของชาจะช่วยเรื่องผ่อนคลาย จึงนำมาเบลนโดยเป็นกลิ่นชาข้าวหอม ที่เบลนกับกลิ่นชามะลิ จึงนับเป็นโปรดักต์ที่โดดเด่นอีกหนึ่งอย่างของแบรนด์
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ดมตะ” ชื่อที่มาจากภาษาใต้ที่มีความหมายว่าลองดมสิ เปรียบเสมือนกับ ‘บาริสต้าผู้เสิร์ฟกลิ่น’ นั่นเอง โดยจุดยืนคือต้องการให้มีอารมณ์เสมือนกับบาริสต้าในการเสิร์ฟกาแฟ ที่เป็นกลิ่น
สำหรับผลิตภัณฑ์อายุการใช้งานหากเป็นยาดมกาแฟ หากยังไม่ได้ใช้งานจะเก็บได้ประมาณ 3 เดือน แต่หากมีการเปิดใช้งานการเก็บรักษาจะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่วนถุงหอมจะอยู่ได้ประมาณ 3 อาทิตย์ ส่วนกลิ่นชาจะอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน
ทั้งนี้ ทางฝั่งของกลุ่มเป้าหมายของดมตะจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับคาเฟอีนเอฟเฟกต์ คือ ดื่มกาแฟไม่ได้ ดื่มแล้วใจสั่น หรือทานกาแฟแล้วยังรู้สึกง่วง 2. กลุ่มคนที่ชื่นชอบกลิ่นกาแฟ ชา โดยที่กลุ่มที่ชื่นชอบกลิ่นกาแฟจะมีสัดส่วนมากกว่า แต่กลุ่มที่ซื้อสินค้าซ้ำจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับคาเฟอีนเอฟเฟกต์
“ทั้งนี้ เบื้องต้นในกลุ่มคาเฟอีนเอฟเฟกต์มีหลายระดับมาก หากรวมกันสำหรับคนที่ทานกาแฟทุกวัน 40% คือคนที่ติดกาแฟแล้วก็จะมีอาการหากไม่ดื่มกาแฟ และจากการสำรวจตลาด ผ่านการทำแบบทดสอบกับผู้ที่เข้าร่วมจำนวน 400 คน พบว่า 70% ชอบกลิ่นกาแฟ มากพอๆ กับรสชาติ”
โดยที่ “ดมตะ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบเลย และตัวโปรดักต์เพชรพยายามที่จะทำให้เป็น Eco ทั้งหมด โดยใช้เป็นกระดาษคราฟต์ทางเลือก นำมาขึ้นรูปให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งสามารถลดการใช้พลาสติกได้เกือบ 90%
ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายจะขายผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก ส่วนออฟไลน์จะเป็นการออกบูธตามงานต่างๆ ด้านการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์หลักๆ จะมาจากการออกบูธ หรือแข่งตามงานต่างๆ บวกกับการยิง Ads ช่องทางออนไลน์
ส่วนจุดหมายปลายทางหลักๆ เพชรยังมองไปที่ตลาด B2B ด้วย เพราะปัจจุบันในเรื่องของ “กลิ่นกาแฟ” ส่วนใหญ่ยังเป็นกลิ่นกาแฟสังเคราะห์ จึงมองว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้กลิ่นกาแฟสังเคราะห์จะเป็นกลิ่นแต่งที่มีสารเคมี ดังนั้นหากรับประทานเป็นระยะเวลานานจะไม่ดีต่อสุขภาพ จึงอยากจะตีตลาดไปตรงจุดนี้ โดยเป็นการนำเสนอ Essential Oils จากกาแฟแท้ๆ โดยที่ใน “ดมตะ” กลิ่นกาแฟใน 1 ขวด มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับกาแฟประมาณ 30 แก้ว ซึ่งสามารถทดแทนได้เลย ซึ่งปัจจุบัน 1 อาทิตย์ ดมตะสามารถผลิตโปรดักต์ได้ประมาณ 400 ชิ้น
เพชรยังมองว่า ตลาดกาแฟของไทยยังมีช่องทางที่จะไปได้อีกมาก ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรไทยพยายามที่จะผลิตเมล็ดกาแฟเพิ่มกันอย่างต่อเนื่อง บวกกับภาพรวมตลาดกาแฟก็ค่อนข้างเติบโตขึ้นทุกปี ตามกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น จึงมองว่า “กาแฟ” ของไทยจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก และยังคงเพียงพอ ดังนั้นในอนาคตจึงมองไปถึงเรื่องของ “Waste” ที่เป็นในส่วนของเมล็ดกาแฟที่ถูกคัดทิ้งที่จะนำมาสกัดกลิ่นได้อีกหรือไม่ และจะต่อยอดอะไรได้อีกบ้างนับเป็นแผนดำเนินการในอนาคตที่วางไว้ในลำดับถัดไปของ “เพชร” และ "ดมตะ" นั่นเอง