ถือเป็นการปิดฉาก “FamilyMart” แบรนด์ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นในไทยเป็นการถาวร หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงกันมาบ้างแล้ว อย่างในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า FamilyMart ที่อยู่ตามชุมชนเริ่มที่จะทยอยปิดสาขาลง
จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล หรือ CRC ได้เดินหน้าปรับโฉมร้าน FamilyMart ในบางสาขา พร้อมทำการปลดป้ายชื่อออกและใช้ ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) แทน รวมทั้งบรรยากาศโทนสีภายในร้าน และโปรโมชันต่างๆ ก็ทำการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งหมด โดยคาดว่าเราจะได้เห็น Tops Daily ที่มาแทนที่ FamilyMart อย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้
ขณะเดียวกันยังได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่จาก ‘บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด’ เป็น ‘เซ็นทรัล ฟู้ด มินิ มาร์เก็ต’ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดู FamilyMart เข้ามาเปิดในไทยโดยเป็นการร่วมทุน ระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น ด้วยทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท เมื่อปี 2535 โดยใช้บริษัทว่า ‘บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด’ จนกระทั่ง CRC เข้ามาซื้อหุ้น 50.29% ในปี 2555 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด’
ต่อมาในปี 2563 บริษัทย่อยของ CRC อย่าง ‘เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล’ ก็ได้ทำการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีก 49% จากหุ้นส่วนญี่ปุ่น เท่ากับว่าเซ็นทรัล รีเทล ถือครองแฟมิลี่มาร์ทในไทยแทบจะ 100% เลยก็ว่าได้ และด้วยเหตุผลนี้เอง CRC จึงได้สิทธิ์ใน FamilyMart แบบเต็มตัว แต่ยังคงสถานะแฟรนไชส์ของแฟมิลี่มาร์ทญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมา FamilyMart มีสาขารวมกว่า 1,000 สาขา
แต่เมื่อเวลาผ่านไปด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บวกกับการแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อก็เริ่มดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งต่างโหมโรง งัดกลยุทธ์หมัดเด็ด และกระหน่ำเปิดสาขาใหม่กันอย่างคับคั่งเพื่อช่วงชิงสัดส่วนทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจร้านสะดวกซื้อเปลี่ยนไป ร้านค้าขนาดเล็กจึงไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่อีกต่อไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนมักจะเห็นว่า ร้าน FamilyMart ในไทยเริ่มหดหายลงไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลือประมาณ 400 สาขา เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นมีจำนวนสาขามากกว่า 15,500 สาขา และถือเป็นร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับสองในญี่ปุ่น
ซึ่งถือได้ว่าสถานการณ์ในญี่ปุ่นนั้นจะไปได้ด้วยดีทั้งมีการผันตัวสู่ฟินเทคเปิดตัวแอปฯ FamiPay ในการให้กู้สินเชื่อ หรือแม้กระทั่ง การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยเปิดให้คู่รัก LGBTQIA+ ที่แต่งงานกัน ทำสัญญาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านได้ทุกประเภท ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันที่ใช้กับคู่แต่งงานทั่วไป
ส่วนทางด้านผลประกอบการของ “FamilyMart” ย้อนหลัง 5 ปี ที่อ้างอิงจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะพบว่า
และจากข้อมูลข้างต้นนี้เอง ก็ได้มีกลุ่มผู้บริโภคสอบถามไปยังทางเพจ FamilyMart Thailand ถึงสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งก็ได้มีการแจ้งกับลูกค้าที่เข้ามาถามถึงสถานการณ์โดยระบุว่า “ทาง Family Mart จะถูกเปลี่ยนเป็น Tops Daily เนื่องจากทางเราต้องการดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการเข้าถึงและพร้อมรองรับลูกค้าทุกท่าน พร้อมทั้งสามารถให้บริการเป็นมาตรฐานเดียวกัน”
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับแนวทางที่ ‘ญนน์ โภคทรัพย์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศไว้ในงานแถลงข่าวเมื่อช่วงต้นปี 2566 ว่า ด้วยพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ร้านไซส์เล็กขนาดราวๆ 150 ตารางเมตร หรือพื้นที่ 1-2 ห้อง ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ถ้าเทียบกับร้าน Tops ที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ 250-350 ตารางเมตร ทั้งในมุมของพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่า ดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า และยังสามารถจัดวางสินค้าได้หลายรายการมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการจะเดินช็อป
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมาจากการที่สิทธิการบริหารแฟรนไชส์ FamilyMart ในไทยของเซ็นทรัลใกล้จะหมดลงในปี 2566 หรือไม่ เซ็นทรัล รีเทล จึงต้องเปลี่ยนชื่อจาก “FamilyMart” เป็น “Tops Daily” และทำการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด หรือว่าการดัน Tops Daily ขึ้นแท่นลูกรักแทน FamilyMart ในครั้งนี้ จะเป็นแค่การรีแบรนด์ของเซ็นทรัลเท่านั้นที่ต้องการจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ “Tops”
เนื่องจาก Tops ถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และติดตลาด รวมทั้งเป็นที่จดจำของผู้บริโภคมากกว่า จึงอาจเป็นคำตอบของการตัดสินใจในครั้งนี้ แต่กระนั้นเราก็คงต้องจับตากันต่อไปว่าการดัน Tops Daily ให้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นแทน FamilyMart จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับพอร์ตของ CRC ได้มากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของสมรภูมิค้าปลีกที่มีทำเล แบรนด์ ราคา และพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นเดิมพัน
เพราะการรีแบรนด์ถือได้ว่ามีทั้งประสบความสำเร็จ และพับโปรเจกต์ไป จนบางรายถึงกับต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิม โลโก้เดิมเลยก็มี แต่กับ “Tops Daily” ก็นับว่ามีชื่อเสียงในแวดวงร้านค้าปลีกอยู่ไม่น้อย ดังนั้นอนาคตของ “Tops Daily” จะไปในทิศทางไหนต่อจากนี้ และคำตอบเหล่านั้นจะถูกใจเซ็นทรัล และเป็นไปตามที่วางแพลนไว้หรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป..