จากการประกาศพลิกโฉมห้างโลตัสทุกสาขาทั่วประเทศ เป็นศูนย์การค้ารูปแบบใหม่ Smart Community Center ท่ามกลางสมรภูมิค้าปลีกแข่งเดือด หลังจากกลับมาอยู่บ้านหลังเดิมในเครือซีพี
คราวนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งลุคของโลตัสที่ได้สลัดภาพไฮเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบเดิม เปิด “Lotus’s Eatery” ศูนย์อาหารแบบ Stand Alone นอกพื้นที่โลตัส แห่งแรกที่โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค เจาะกลุ่มชาวออฟฟิศและผู้ใช้ชีวิตย่านสุขุมวิท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโลตัสถือเป็นผู้ที่บริหารจัดการศูนย์อาหารมากที่สุดในประเทศไทยกว่า 160 แห่ง แต่ด้วยความที่เจตนารมณ์ที่ต้องการจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง สู่ Inspiring Fresh & Food Destination จุดหมายปลายทางสำหรับอาหารและอาหารสดคุณภาพสูง ดังนั้นจึงมองเห็นโอกาสของทำเลที่ดีอย่างทรูดิจิทัลพาร์ค รวมทั้งมีร้าน Go fresh ในละแวกใกล้เคียง จึงได้อัปเลเวลเป็นแหล่งแฮงก์เอาต์แห่งใหม่เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตกิน-ดื่ม-แฮงก์เอาต์ ตั้งแต่เช้าถึงค่ำขึ้น
ด้าน เบญจวรรณ อ่องศรี ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริหารพื้นที่ศูนย์การค้า โลตัส กล่าวว่า Lotus’s Eatery ศูนย์อาหารแบบ Stand Alone นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค (อีสต์) ชั้น 2 ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม. มีแบรนด์ร้านอาหารกว่า 50 ร้าน ทั้งสตรีทฟู้ดชื่อดังและร้านมิชลินไกด์ ภายใต้คอนเซปต์ “All day dining, delight every meal”
ด้วยความโดดเด่นที่ไม่เหมือนคู่แข่ง ซึ่งจะเป็นในเรื่องของความหลากหลายของอาหาร ราคาจับต้องได้ คุณภาพคุ้มราคา ไม่มี overcharge รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยจะเป็นในรูปแบบการให้บริการแบบไร้เงินสด (Cashless) ที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านระบบโมบายแบงก์กิ้งและแอปพลิเคชัน True Money Wallet
และยังมีแพลตฟอร์ม Lotus’s Eatery SMART Ordering ที่ลูกค้าสามารถเลือกดูเมนูอาหารของทุกร้านและกดสั่งอาหารและชำระเงินได้ทันที โดยไม่ต้องเดินไปสั่งที่ร้าน ช่วยลดเวลาการรอคิวหน้าร้าน เมื่ออาหารเสร็จสามารถเดินไปรับที่ร้านได้ทันที
โดยการเปิด Lotus’s Eatery เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ได้ทำเซกชั่นต่อขยาย สู่ศูนย์อาหารแบบ Stand Alone ใช้เงินลงทุนจำนวน 2 หลัก ส่วนพื้นที่ถัดไปมองว่าเป็น 5 location ได้แก่ พัฒนาการ เลียบด่วนรามอินทรา, สุขาภิบาล 3, ปากช่อง และอุดรธานี โดยที่ขนาดพื้นที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 1,000 ตารางเมตร และเน้นทำเลที่มีศักยภาพ เพราะด้วยภารกิจของโลตัส คือ การดูแลทั้งผู้บริโภค และคู่ค้า จึงต้องหาทำเลที่คู่ค้าสามารถเติบโตได้
ทั้งนี้ รูปแบบจะเป็นร้านเดิม เพียงแต่จะใช้พื้นที่ที่จอดรถสร้างอาคารเป็นส่วนต่อขยายออกมา เนื่องจากมองว่าพื้นที่ที่จอดรถของโลตัสส่วนใหญ่จะมีขนาดกว้างเหมาะแก่การทำ Lotus’s Eatery
และด้วยปัจจัยที่ว่าอยากจะเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดขายไฮเปอร์มาร์เก็ตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ขณะที่ภาพรวมของกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบัน เบญจวรรณ มองว่า ที่ผ่านมาสาขาที่อยู่โซนท่องเที่ยวค่อนข้างได้รับผลตอบรับดี และฟีดแบ็กจากลูกค้าค่อนข้างเยอะ ส่วนภาพรวมตลาดนั้นขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจหากมีการ Active ในเรื่องของ Promotion ก็ย่อมมีกำลังซื้อ และจากการเปิด Lotus’s Eatery มา 1 สัปดาห์ พบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ออฟฟิศ และคอนโด รวมทั้งย่านสุขุมวิทมีจำนวนผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนราคาอาหารจะเริ่มต้นที่ 45 บาทเป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน ยอดการจับจ่ายใช้สอยในฟู้ดคอร์ตทั่วประเทศของโลตัสจะอยู่ที่ 120 บาทต่อคนต่อครั้ง แต่ที่ Lotus’s Eatery ยอดค่าใช้จ่ายขยายขึ้นอยู่ที่ 200 บาทต่อคนต่อครั้ง
และในปีนี้โลตัสตั้งเป้าเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตเฉลี่ยปีละ 1-2 สาขาใหญ่ ส่วนที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต และมินิซุปเปอร์มาร์เก็ตจะอยู่ประมาณ 100 สาขา ขณะเดียวกัน ร้านค้าในระบบมีประมาณกว่า 3,000 แบรนด์ ส่วนจำนวนร้านค้าในฟู้ดคอร์ตประมาณ 5,000-6,000 ร้าน ที่จะมีการหมุนเวียนสลับกันไปเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้มีหลายสาขามากนักในแต่ละพื้นที่
โดยเฉพาะในส่วนของร้านค้าใน Lotus’s Eatery มองว่าจะเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง แต่จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนเป็น Pop up ด้วยเช่นกัน โดยจะมีการเชิญมาเป็นรอบๆ เมื่อร้านค้ามีความแข็งแรงก็อาจจะมาเป็นเหมือนแบรนด์ใหญ่ โดยส่วนใหญ่แบรนด์จะมีสัญญาอยู่ที่ 3 ปี++ บางร้านอาจจะเป็น 1 ปี แต่ทั้งนี้ร้านที่เป็น Pop Up จะเป็นรายอาทิตย์ ซึ่งตรงจุดนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ทางด้านค่าไฟถือได้ว่ามีผลกับธุรกิจเช่นกัน แต่โลตัสถือได้ว่ามีข้อดีอย่างปีที่ผ่านมามีการติดตั้งโซลาร์รูฟไว้เป็นจำนวนมาก จึงได้รับอานิสงส์มาช่วยในเรื่องของค่าไฟได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ในเรื่องของค่าไฟจึงนับเป็นความท้าทายอีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
โดย Lotus’s Eatery จะมีโซนที่นั่งตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งโซน Chillaxing จิบกาแฟทานขนมแบบชิลๆ โซน Main Dining สำหรับทานอาหารมื้อหลักแบบจัดเต็ม และโซน Night Area สำหรับกินดื่มสังสรรค์ และมีโซนดนตรีสดในบรรยากาศชิลๆ จึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งแฮงก์เอาต์แห่งใหม่ของคนย่านนี้.