ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกข้อมูลเดือน ม.ค.ถึงเดือน เม.ย. 66 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9% สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย
แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด โดยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่าย 31.8 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน
สำหรับสถานการณ์ยานยนต์ในไทยนั้น คาดการณ์ว่าปี 2566 ไทยจะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 1.95 ล้านคัน ขายในประเทศประมาณ 900,000 คัน และส่งออก 1.05 ล้านคัน และในเดือน ม.ค.ถึงเดือน เม.ย. 66 มีปริมาณการผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 5%
ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศมีปริมาณ 276,603 คัน ลดลง 6% เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน อันเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้น
โดยปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 19,347 คัน เพิ่มขึ้น 1,206% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดส่งออกมีปริมาณ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น 18% เป็นผลจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทาน ที่ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนเพื่อการผลิต
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อปริมาณผลิตจำหน่ายและส่งออก ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ สำหรับปัจจัยภายนอกนั้น เรามองว่าสถานการณ์ตลาดส่งออก คาดการณ์ว่าตลาดหลักคือ อาเซียนและตะวันออกกลางจะยังเติบโต 4% และ 6% ตามลำดับ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด
ในขณะที่ตลาดออสเตรเลียจะทรงตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเริ่มชะลอตัวจากหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในกลุ่มตลาดหลัก คือ ออสเตรเลียและอาเซียน ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการด้านอุปสงค์และอุปทาน ทำให้การเติบโตของตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หลักที่ประเทศไทยส่งออก จึงอาจทำให้เสียโอกาสการส่งออกบางส่วน
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/66 การส่งออกรถยนต์จากจีน มีจำนวน 1.07 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 58% มากกว่าการส่งออกของญี่ปุ่นที่มีจำนวน 950,000 คัน เนื่องจากความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความสามารถการแข่งขันของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของจีนเพิ่มขึ้นมาก
โดยผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศที่ตั้งโรงงานในจีนเริ่มพิจารณาปรับลดการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับผู้ผลิตรถยนต์ของจีนได้ ผลดังกล่าว อาจจะทำให้การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามายังประเทศไทยมากขึ้น ทั้งรถยนต์ของจีนและรถยนต์ของต่างประเทศที่ลงทุนในจีน
"ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะมีทิศทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างไร แต่เชื่อว่า นโยบายของรัฐยังคงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon neutral ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้คาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเช่นเดียวกัน"
ดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า จากเป้าหมาย 30@30 และมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจากประเทศจีนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต เนื่องด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่
1. SAIC กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี
2. GWM กำลังการผลิต 80,000 คันต่อปี
3. BYD กำลังการผลิต 150,000 คันต่อปี
4. NETA กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี
นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2 ราย ได้แก่ GAC Aion และ Chang An Automobile และมีแผนลงทุน 1 ราย ได้แก่ Chery Automobile (ปี 2024) ซึ่งเป็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
แต่ยังมีประเด็นความท้าทายคือ เงื่อนไขการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมีน้อยลง
เช่น ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ประกอบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนมีความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถแข่งขันของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ
ล่าสุด เราได้เตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในประเทศจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยงาน Automotive Summit ในปี 66 นี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Reshape the Future of Thai Automotive Industry หรือ พลิกโฉมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเนื้อหาในงานสัมมนาจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ
1. Transition หรือการเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์
2. Transformation หรือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะรับมือการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้อย่างไรบ้าง
นางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมฟังสัมมนาในงาน Automotive Summit แล้ว สามารถเข้าชมเครื่องจักรและเทคโนโลยีสำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในงาน Automotive Manufacturing ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งลงทะเบียนเข้าชมงานเดียว สามารถเข้าชมทั้ง 8 งานภายใต้มหกรรม Manufacturing Expo ได้ทันที
ทั้งนี้ นับว่าคุ้มค่ามากๆ ขอเพียงผู้ชมงานแต่งกายสุภาพ ไม่สวมรองเท้าแตะหรือกางเกงขาสั้น เนื่องจากงานเป็นงานแบบเจรจาธุรกิจ โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มิ.ย. 66 นี้ ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา