“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ถอดรหัสอนาคตเครือสหพัฒน์ ก่อนวางมืออายุ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ถอดรหัสอนาคตเครือสหพัฒน์ ก่อนวางมืออายุ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน

Date Time: 8 พ.ค. 2566 05:47 น.

Summary

  • วันที่ 2 เมษายน 2569 เป็นวันที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ กำหนดไว้ว่า จะวางมือจากการบริหารธุรกิจในเครือสหพัฒน์ เมื่อมีอายุครบ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

วันที่ 2 เมษายน 2569 เป็นวันที่ “บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ กำหนดไว้ว่า จะวางมือจากการบริหารธุรกิจในเครือสหพัฒน์ เมื่อมีอายุครบ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน

“เสี่ยบุณยสิทธิ์” ที่คนทั่วไปรู้จักเป็นเจ้าพ่อสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย เพราะภายใต้เครือสหพัฒน์มีบริษัทรวมกันมากกว่า 300 บริษัท มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ 15 บริษัท

เครือสหพัฒน์ยังเป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริษัทรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก่อตั้งและวางรากฐานโดย “เทียม โชควัฒนา” อยู่คู่ประเทศไทยมามากกว่า 80 ปี

สินค้าแบรนด์ดังในเครือสหพัฒน์ที่คนไทยทุกคนรู้จัก อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซื่อสัตย์ ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ผงซักฟอกเปา ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเอสเซ้นส์ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟันซิสเท็มมา ยาสีฟันซอลส์

ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าภายใต้แบรนด์วาโก้, เชอริล่อน, ARROW (แอร์โรว์), Lacoste (ลาคอสท์), ELLE (แอล), era-won (เอราวอน), Guy Laroche (กี ลาโรช) ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอองฟองต์, แอ็บซอร์บา น้ำแร่มองต์เฟลอ โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวริชเชส ครีมอาบน้ำโชกุบุสซึ โมโนกาตาริ ครีมอาบน้ำและโฟมล้างมือคิเรอิคิเรอิ หน้ากากอนามัยเวลแคร์ เครื่องสำอาง BSC (บีเอสซี) ร้านสะดวกซื้อ Lawson

เมื่อปี 2540 หรือ 26 ปีก่อน “บุณยสิทธิ์” ได้รับของขวัญวันเกิดที่พนักงานของบริษัทมอบให้ มีคำว่า BSC หรือ Best Selected Collection หรือคอลเลกชันของสินค้าที่ดีที่สุด

อีกนัยหนึ่งมาจากคำย่อชื่อภาษาอังกฤษของเขา “Boonsithi Chokwatana” จากแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์ไทย โดยคนไทย ที่มีคุณภาพเท่าเทียมสินค้าจากต่างประเทศ ในราคาที่สบายกระเป๋า เพื่อคนไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นคัดสรรสินค้าดีที่สุดในเครือสหพัฒน์ มาอยู่ภายใต้แบรนด์ BSC (บีเอสซี)

ถ้านับเวลาจากตอนนี้เหลือเวลาอีกราว 27 เดือน ที่ “บุณยสิทธิ์” จะวางมือจากธุรกิจ โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เขาจะอายุครบ 86 ปี “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงขอใช้จังหวะนี้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของเครือสหพัฒน์ มุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย และความเห็นในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ

ปรับทัพรุกเข้าสู่ธุรกิจบริการ

“เสี่ยบุณยสิทธิ์” เริ่มต้นการพูดคุยว่า ที่กำหนดการบริหารงานในเครือสหพัฒน์ จนถึงอายุ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน เพราะคนสูงอายุ เมื่อไหร่ล้มก็ไป หรือเกิดป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จึงต้องมีเป้าหมายและพยายามอย่าให้เกิดก่อนเวลาที่กำหนดไว้ ต้องพยายามรักษาตัวในช่วงเวลานี้

“ฉันพยายามทำให้เวลาฉันลุกออกจากบริษัทไปแล้วไม่ยุ่ง แต่หากไม่กำหนดวันเอาไว้จะยุ่ง เมื่อฉันกำหนดวันเวลา ทุกคนก็รู้ว่าฉันต้องวางอะไรไว้อย่างไร จริงๆตอนอายุ 80 ฉันก็ประกาศว่าจะอยู่ได้อีก 100 เดือน ฉันไม่ได้หวังว่าถึง 100 ปี ปู่ฉันเสียตอนอายุ 62 ปี นายห้างเทียม โชควัฒนา พ่อของฉัน เสียชีวิตอายุ 76 ปี ถ้าฉันอยู่ได้ถึง 88 ปี ฉันดีกว่าเขาเยอะ จึงไม่ต้องไปหวังเยอะ

ในช่วงนี้ฉันต้องพยายามไม่ให้หกล้ม ไม่ให้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ คนมีอายุมีอะไรหลายอย่างที่ปุ๊บปั๊บเดี๋ยวไปเลย ฉันจะพยายามสู้ให้ถึง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุก่อนถึงเวลานั้น”

การบริหารงานบริษัทในเครือตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมารับช่วงต่อ รุ่นเราก็วางวิสัยทัศน์ให้คนรุ่นใหม่ ในอนาคตต้องทำอะไรที่ท้าทายกว่างานปัจจุบัน สำหรับเรื่องที่ท้าทายกว่า ต้องรู้ว่าที่ผ่านมาเครือสหพัฒน์ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเยอะ แต่ต่อไปจะพยายามหาธุรกิจบริการ มาเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีธุรกิจ มีโรงเรียนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนนานาชาติคิงส์ คอลเลจ โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ โรงเรียนบุนกะแฟชั่น โรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น ต่อไปอาจจะมีโรงเรียนสอนดำน้ำ

“สมัยก่อนนิคมอุตสาหกรรมของเรามีสนามบิน ฉันก็เลยบอกว่าลองทำโรงเรียนสอนขับเครื่องบินตอนนี้อายุเยอะแล้วไม่ได้บิน แต่รันเวย์ยังอยู่ โรงเรียนตอนนี้ก็ยังรับสอนอยู่ ก่อนโควิด-19 ระบาดนักเรียนมาเรียนเยอะ พอมีโควิด-19 ก็หายไปเลย ตอนนี้เริ่มกลับมาใหม่แล้ว”

ช่วงที่เกิดโควิด-19 ในเครือสหพัฒน์มีบางบริษัทโดนกระทบและบางบริษัทกลับดีขึ้น มีขึ้นมีลง พวกอาหารดีขึ้น พวกเครื่องสำอางเสื้อผ้าไม่ดี อย่างไรก็ตาม บริษัทในเครือสหพัฒน์มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่จะปรับอย่างไรต้องไปถามคนรุ่นใหม่

ส่วนที่มองว่าจะทำสินค้าบริการมากขึ้นเพราะธุรกิจที่ยังไม่เคยทำก็ต้องค่อยๆขยายไปด้วย ส่วนสินค้าที่ทำอยู่ก็ยังขยายต่อไป สมัยก่อน “นายห้างเทียม” พ่อเคยบอกว่า แตกแล้วโต โตแล้วแตก แต่ของฉันไม่ใช่ ของฉัน “รวมแล้วใหญ่ ใหญ่แล้วรวม” คือบริษัทเล็กๆรวมกันไปให้ใหญ่ และไปรวมกับกลุ่มอื่น คือ รวมแล้วใหญ่ ใหญ่แล้วรวม

“ไม่มีอะไรต้องห่วงในเรื่องบริษัท ฉันวางไว้เกือบจบแล้ว ในระยะยาวคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมา ฉันจะสู้เขาไม่ได้ โครงการสุดท้ายก่อนลุกจากตำแหน่ง คือ ตึกคิงบริดจ์ จะสร้างเสร็จในอีก 2 ปี ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นอาคารสำนักงานสูงที่สุด บนถนนพระราม 3 และจะพยายามให้บริษัทในเครือมาอยู่ที่ตึกนี้”

นักลงทุนหนีไทยไปเวียดนาม

“เสี่ยบุณยสิทธิ์” ได้แสดงความเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ ว่า จริงๆ เศรษฐกิจเมืองไทยไม่ใช่ไม่ดี มีบางตัวลง บางตัวขึ้น และขึ้นๆลงๆเป็นเรื่องธรรมชาติ เพียงแต่เดินเร็วหรือเดินช้าเท่านั้น ถ้าเราเดินได้เร็วประชาชนก็อยู่สบาย ถ้าเปรียบเทียบประชาชนในปัจจุบันกับ 30 ปี 40 ปี และ 50 ปีก่อน ปัจจุบันดีกว่าเยอะในพื้นที่ภาคใต้ หากทำระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(SEC) แบบเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้เร็ว ตอนนี้ประเทศไทยทางภาคใต้จนที่สุด ทำอย่างไรให้ทางใต้รวยที่สุด สะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นตัวหนึ่งที่สามารถสร้างให้ทางใต้มีรายได้ดี เขาจะทำให้มีท่าเรือเหมือนกับ EEC รัฐบาลที่ผ่านมาก็มีการพูดถึง SEC เป็นการพูด แต่การทำเป็นโครงการปฏิบัติ นักการเมืองรู้หรือเปล่า

“ต้องปฏิบัติให้เร็วด้วย ช้าไม่ได้ เพราะจังหวะนี้หลังโควิด–19 ต้องมีอะไรใหม่ๆ นักลงทุนกำลังหาพื้นที่ลงทุน”

ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าไปด่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีประโยชน์ หากมองอนาคตปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เหลืออยู่อาจจะไม่พอด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้เทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้า(รถยนต์ EV) มาแรง ถ้าในประเทศทุกคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ปริมาณไฟฟ้าจะไม่พอใช้เลย

สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ต้องหาดูว่าการผลิตไฟฟ้าที่ถูกคืออะไร อย่างไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกคนคิดว่าไม่เกิด แต่คนเป็นนักการเมืองต้องไปคิดว่าทำอย่างไรให้เกิด ประชาชนต่อต้านไหม มีความปลอดภัยไหม พลังงานทางเลือกตอนนี้ก็ต้องคิดแล้ว ถ้าไม่คิดอีกหน่อยจะแพงกว่านี้ รู้สึกว่าเมืองไทย ไฟฟ้า ยังถูกกว่าหลายประเทศ

สำหรับโอกาสของการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ถ้าเราจะมีนิคมหนีไม่พ้นต้องชวนต่างชาติมาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก ตอนนี้ไทยต้องแข่งกับเวียดนาม ซึ่งประเทศเวียดนามไม่มีสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมือนไทย แต่นายกรัฐมนตรีเวียดนามสามารถสั่งทำโน่นนี่ได้ คนต่างชาติก็ชอบ ยกตัวอย่าง ซัมซุงไปลงทุนที่กรุงฮานอย ทางรัฐบาลเวียดนามก็สร้างท่าเรือ สร้างถนนให้ โดยไม่ต้องเสียตังค์อะไร เขาสั่งทำได้ทันที

“ตอนนี้นักลงทุนที่อยู่เมืองไทยจะหนีไปเวียดนามมาก และเวียดนามกับญี่ปุ่นมีข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ภาษีถูกกว่าไทย ญี่ปุ่นจึงย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม เพราะถ้าผลิตสินค้าไทยแล้วส่งออกไปญี่ปุ่น จะสู้การผลิตจากเวียดนามและส่งไปญี่ปุ่นไม่ได้ รัฐบาลรู้ตรงนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เป็นเรื่องที่ต้องกังวลสำหรับประเทศไทย ตอนนี้ต่างจากเมื่อก่อนที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย เพราะญี่ปุ่นกำลังจะหนีเมืองไทยไปเวียดนาม”

รัฐบาลใหม่อย่าทำไทยเหมือนยูเครน

สำหรับความเห็นต่อโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง “เสี่ยบุณยสิทธิ์” ให้ความเห็นว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากสมัยก่อนเยอะ เพราะมีพรรคเยอะและต่างคนก็ชูนโยบาย ทำได้ทำไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ก็ชูไว้ก่อนเพื่อเรียกคะแนนเสียง เลยห่วงเรื่องการเมืองนิดนึง”

แต่ถ้าวิเคราะห์ จริงๆตอนนี้ เมืองไทยมี 3 ขั้ว พวกทหาร พ่อค้า และอีกขั้วหนึ่งคือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกล แต่ 3 ขั้วนี้ทุกคนก็พยายามคุยให้ประชาชนว่าเขาทำได้ อยากได้คะแนนเสียงเยอะๆ ก็ไป ตีเช็คล่วงหน้า อย่างนี้อย่างนู้น คนละ 10,000 บาท คนละ 500-700 บาท

“ขอให้ทำให้ได้พ่อค้าก็ดีใจ ไม่มีปัญหา เพียงแต่หลังจากขึ้นมาแล้วทำได้หรือเปล่า จะมีโกงกินไหม ในมุมมองของฉัน พรรคที่เข้ามาเป็นรัฐบาลอย่านำประเทศให้ไปอยู่สถานะแบบประเทศยูเครน ที่เอาแผ่นดินให้อเมริกาทดสอบกระสุน ถ้าไทยเหมือนเขาชีช้ำเลย ถ้าได้รัฐบาลที่ไม่ฉลาดพอก็มีโอกาส ขอให้ประเทศไทยไม่เป็นแบบนั้นพรรคไหนมาก็ได้”

สำหรับการพัฒนาประเทศจริงๆเมืองไทยมีศักยภาพ ทำแล้วสามารถแก้จนได้ทันที ตอนนี้ทางภาคใต้ยากจนที่สุด ทำอย่างไรให้ภาคใต้ทั้งหมดรวยที่สุด บางอย่างก็พูดได้ บางอย่างก็พูดไม่ได้ ตอนนี้เลือกตั้งอยู่ ไม่อยากพูดแล้วไปกระทบใคร จริงๆมีวิธีเยอะ

ฉันเป็นพ่อค้าฉันมองอนาคตของเมืองไทย ทำอย่างไรให้เจริญ ทำอย่างไรให้พ่อค้าอย่างเราอยู่รอดได้ ถ้านักการเมืองมีวิสัยทัศน์เขาจะมองออก จริงๆเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว และไม่มีสงคราม ถ้าเราอยู่ได้ พ่อค้าก็อยู่ได้ แต่ที่พ่อค้ากลัวที่สุดคือสงคราม

“ที่พูดแบบนี้มีความเป็นไปได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองตีเช็ค อยู่เรื่อยๆ มีโอกาส เพราะบางคนขึ้นมาอาจจะอยากอิง คือ ตัวเองไม่ได้ทำด้วยตัวเอง แต่อิงโน่น อิงนี่ ก็มีโอกาสเหมือนกับประเทศยูเครน เป็นไปได้ถ้าทำผิดถ้าไปแก้รัฐธรรมนูญ 112 และเกิดยุ่ง และต่างคนต่างมีผลประโยชน์แล้วก็ลืมตัว ชักศึกเข้าบ้าน ไม่ต้องชักหรอก เพราะเขาพร้อมจะเข้าบ้านเราอยู่แล้ว แม้เราไม่ชักศึกคนก็เสนอ ให้เข้าบ้านอยู่แล้ว ต้องวิเคราะห์ให้เป็น”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ