ส.อ.ท.เผยยอดผลิตรถไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 507,787 คัน หลังได้ชิ้นส่วนชิปเพิ่มขึ้น มั่นใจทั้งปีได้ตามเป้าหมาย และมีลุ้นแตะ 2 ล้านคัน หลังการส่งออกไตรมาสแรกโต 12.57%
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือน มี.ค. 66 อยู่ที่ 179,848 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.16%
ทั้งนี้ ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 507,787 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.77% จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสามารถรักษาระดับการผลิตดังกล่าวไว้อีก 3 ไตรมาสที่เหลือ มั่นใจว่ายอดผลิตจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปี 2566 ที่ระดับ 1,950,000 คัน และมีโอกาสลุ้นแตะระดับ 2,000,000 คัน
"ถ้ารักษาระดับการผลิตนี้ มีโอกาสเห็น 2,000,000 คัน แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่แน่นอนใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่แม้ว่าจะแก้ไขได้รวดเร็วและเริ่มนิ่ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก ขณะที่อังกฤษพบว่าล่าสุดยังมีประชาชนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคาร หากลุกลามก็จะกระทบต่อการส่งออก ส่วนภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีต่อเนื่อง และเริ่มตึงเครียดมากขึ้น ก็ต้องจับตาใกล้ชิดว่าจะขยายพื้นที่นอกจากยูเครนหรือไม่"
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน มี.ค. อยู่ที่ 98,381 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.84% ส่งผลให้ส่งออกไตรมาสแรกอยู่ที่ 273,692 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.57% มีมูลค่าการส่งออก 168,121.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.62% เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น
หากวิกฤติการเงินโลกไม่เป็นปัจจัยลบรุนแรง รวมถึงข้อขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขยายตัว ปีนี้การส่งออกจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 1,050,000 คัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการส่งออกรถยนต์ของจีน ที่ปีนี้จะก้าวสู่อันดับ 1 ของโลก ที่จะมีผลต่อพื้นที่เรือบรรทุกรถยนต์ (Ro-Ro) ที่อาจจะไม่เพียงพอมากขึ้นได้ รวมถึงการส่งออกรถยนต์ของไทยไปออสเตรเลีย ที่ล่าช้าจากการเสียเวลาล้างดอกหญ้าที่ติดบนรถส่งออกไปจากท่าเรือไทย ทำให้เกิดความเสียหายหลายร้อยล้านบาท
ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศ มี.ค. 66 อยู่ที่ 79,943 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 8.37% ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้ มียอดขาย 217,073 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.11% จากการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อกับผู้ซื้อรถยนต์โดยเฉพาะกระบะ ที่ไตรมาสแรกมียอดขายลดลงถึง 21.85% เพราะมีสัดส่วนผู้มาเช่าซื้อสูงถึงกว่า 80% เนื่องจากดอกเบี้ยมีทิศทางขาขึ้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงสูง ไฟแนนซ์จึงมีการเข้มงวดหลักฐานทางการเงินมากขึ้น
"ต้นทุนผู้ผลิตรถยนต์มีหลายด้านที่สูงขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 ที่เริ่มลดลงเล็กน้อย ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เองอาจต้องปรับราคารถบางรุ่นเพิ่มขึ้น และบางรุ่นก็พยายามรักษาระดับราคาไว้ เพราะการแข่งขันสูง ท่ามกลางแรงซื้อที่ยอมรับว่ายังคงกังวล เพราะหนี้ครัวเรือนของไทยยังถือว่าสูงมาก และค่าครองชีพต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น"
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ หรือ รถป้ายแดง ที่เป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนในประเทศ ไตรมาส 1/66 นี้ มีทั้งหมด 14,536 คัน เพิ่มขึ้น 1,076.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 1,236 คัน เนื่องจากรัฐบาลได้สนับสนุน ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีราคาต่ำลง ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้ยอดรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศ ณ 31 มี.ค. 66 มีครบทุกกลุ่มประเภทแล้ว เช่น รถบรรทุกไฟฟ้ามี 70 คัน รถโดยสารไฟฟ้า 1,822 คัน รถสามล้อไฟฟ้ามี 586 คัน เป็นต้น.