บี.กริม ลุยสถานีชาร์จรถยนต์ EV ตั้งเป้า 100 หัวชาร์จภายในปี 2566 นี้ ชูโมเดลการลงทุนสถานีชาร์จได้หลายรูปแบบ
นายกิตติ พัฒนลีนะกุล ประธานกลุ่มธุรกิจ บี.กริม อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร ที่มุ่งเน้นด้านการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นให้กับผู้ประกอบการ และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม บี.กริม จึงได้เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเติมเต็มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเราชูจุดเด่นเรื่องการบริการแบบครบวงจร (Total Solutions) และรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ช่วยให้ผู้ประกอบการอาคาร หรือโครงการต่างๆ สามารถลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จในเชิงพาณิชย์ โดยมีทางเลือกมากขึ้น พร้อมทางเลือกในการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตพลังงานสะอาดให้กับสถานีชาร์จ
"เราได้เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จำนวน 3 หัวชาร์จ และมีแผนจะขยายธุรกิจไปถึง 100 หัวชาร์จภายในปี 2566 นี้"
สำหรับโซลูชันการชาร์จของ บี.กริม ประกอบด้วยเครื่องชาร์จ แอปพลิเคชัน ระบบคำนวณค่าใช้จ่าย และระบบจัดการเครื่องชาร์จและข้อมูลผู้ใช้งาน ซึ่งมีความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาดในหลายด้าน เช่น ระบบตรวจสอบการใช้งานที่สามารถประมวลผลข้อมูล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มในการสร้างอาคารเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ระบบของเราสามารถแสดงรายงานการลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละช่วงเวลา พร้อมรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต และ บี.กริม ก็มีบริการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เชื่อมเข้าสู่ระบบของอาคารและสถานีชาร์จ เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับคะแนนอาคารเขียวเพิ่มเติมอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นโซลูชันที่เริ่มตั้งแต่การผลิตพลังงานสะอาด ไปจนถึงการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
สำหรับ บี.กริม เป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม สุขภาพ ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ และการลงทุน ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานถึง 145 ปี มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงงาน อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ อีกมาก
โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ล้วนมีความต้องการในการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ BEV ในประเทศไทย ช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ที่สูงขึ้นถึง 1081% คิดเป็น 14,777 คัน ในขณะที่ไตรมาส 1/65 มียอดจดทะเบียนเพียง 1,251 คัน เท่านั้น.