ถือเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว สำหรับ “เกศ-ชุติมา เปรื่องเมธางกูร” เจ้าแม่ร้านปิ้งย่างสไตล์เกาหลี “nice two Meat u” และชานมเสือพ่นไฟ ที่เปลี่ยนตัวเองจากเด็กเกเรไม่เอาถ่าน จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้ง กลายเป็นเจ้าตลาดอาหารและเครื่องดื่มสไตล์เกาหลีในเมืองไทย และในฐานะพี่ใหญ่ของบ้าน เธอยังสร้างแรงบันดาลใจมหาศาลให้กับน้องๆ ทั้ง “มิน-ปรมินทร์ เปรื่องเมธางกูร” แห่งบริษัท ส้มพาสุข จำกัด และ “สมาย-อภิสรา เปรื่องเมธางกูร” แห่ง “Chicken Club” และ “KOGORO” ร่วมผนึกกำลังกันสร้างตำนานตระกูลพารวยไม่หยุด โดยยึดทำเลทอง “สยามสแควร์” เป็นหัวหาดสำคัญ
“บ้านเกศเป็นยี่ปั๊วขายเหล้ารายใหญ่ของย่านฝั่งธน และมีสวนยาง ฐานะครอบครัวค่อนข้างดี เกศเป็นลูกคนโตในพี่น้อง 4 คน ตอนเด็กเกเรไม่ชอบเรียนหนังสือ แต่เอ็นต์ติดคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีนกลาง มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ หลังเรียนจบปริญญาตรี เกศขอที่บ้านไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา แต่ด้วยความที่เรียนไม่เก่ง ต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะสอบโทเฟลผ่านได้เข้าเรียนด้านศิลปะการจัดการธุรกิจอาหารและการประกอบอาหาร ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน พ่วงประกาศนียบัตรการผสมเครื่องดื่ม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตอนอยู่อเมริกาเกศเปลี่ยนไปมากรับจ๊อบทุกอย่างไม่อยากเที่ยวเตร่ แค่ทำงานกับเรียนก็เหนื่อยแล้ว เกศค้นพบตัวเองว่าชอบทำอาหารและอยากเปิดผับบาร์ หลังฝึกงานกับโรงแรมฮิลตันและแมริออท ตั้งใจทำงานที่อเมริกาสักพัก แต่พ่อเรียกกลับมาช่วยงานที่บ้าน ทำอยู่ได้ 3 วัน ก็ลาออก เพราะมันไม่ใช่สไตล์เรา มาได้งานบริษัทที่ปรึกษา “APM GROUP” ทำอยู่ 2 ปี ก็เริ่มอิ่มตัว และอยากเปิดร้านกาแฟเลยยืมเงินพ่อมา 8 แสน เปิดคาเฟ่เล็กๆ ในซอยสาทร 8 ตกแต่งหรูด้วยแชนเดอเลียร์ มีเครื่องกาแฟอย่างดีจากเยอรมัน แต่ขายกาแฟแก้วละ 45 บาท ช่วงแรกขายดีมาก แต่พอธนาคารแถวนั้นย้ายออฟฟิศ ทำให้คนหายไปเป็นพัน ร้านเกศแย่ไปด้วย โชคดีที่มีคนฝรั่งเศสมาขอซื้อ พอว่างงานเกศเลยมาเล่นหุ้นจริงจัง ยืมเงินพ่อก้อนแรก 3 ล้านบาท เล่นไปเล่นมาขาดทุนเกือบ 10 ล้านบาท หุ้นที่เกศเล่นเป็นหุ้นปั่นทุกตัว แต่แทนที่จะเข้าเร็วออกเร็ว เรากลับโลภกลัวขายหมู จนแม่เตือนให้เลิกเล่น เลยตัดขาดทุนทั้งพอร์ต”...เกศเล่าถึงบทเรียนในอดีต
ผิดพลาดล้มเหลวขนาดนี้ แล้วมาเจอแจ็กพอตแตกได้อย่างไร
เกศเป็นคนเศร้าไม่นาน กำลังใจดีมาก เสียเงินไป 10 ล้านบาท ยังคิดว่าตัวเองโชคดีไม่โดนหนักกว่านี้ ด้วยความที่คิดบวกทำให้เจอโอกาสใหม่ๆในการทำธุรกิจ เกศมาค้นพบขุมทรัพย์ด้วยความบังเอิญ ทุกอย่างเหมือนขีดไว้แล้ว หลังจากขายร้านกาแฟให้คนฝรั่งเศส เขาอยากเปิดอีกสาขาที่สยามสแควร์ เกศต้องช่วยหาโลเกชัน ปรากฏว่าพอหาทำเลได้มันดันเปลี่ยนใจไม่เปิดแล้ว เกศต้องรับเซ้งตึกไว้เองเพราะเกรงใจผู้ใหญ่ ที่แรกอยู่บนถนนอังรีดูนังต์ พอเข้าไปในสยามสแควร์ถึงรู้ว่าทำเลนี้มีมูลค่ามาก สามารถต่อยอดได้เยอะ จากตึกเดียวเกศขยายธุรกิจออกไปเยอะ กลายเป็นแลนด์ลอร์ดน้อยๆของสยามสแควร์ มีทั้งร้านนวดสปา, ร้านทำเล็บ, ร้านแวกซ์, ร้านตัดเสื้อ, ยิมต่อยมวย จนมาเจอธุรกิจที่เก้าคือ “nice two Meat u” เกศเป็นคนชอบทานปิ้งย่างเกาหลี แต่หาร้านถูกใจไม่ได้ ตระเวนชิมที่เกาหลีไปเจอร้านนี้ เรารู้เลยว่านี่คือร้านที่ตามหา เกศจ่ายเงินไป 10 ล้านบาท เพื่อซื้อแฟรนไชส์เป็นตัวแทนเจ้าเดียวในไทย ตอนนี้ “รวยไม่หยุด กรุ๊ป” มีธุรกิจในเครือหลายอย่างมาก รวมถึงน้องใหม่ล่าสุด “Dosan Dalmatian by Mammamia” และเตรียมเปิดแบรนด์ใหม่อีก 4 แบรนด์
จับอะไรก็ปัง ถามจริงเคล็ดลับความสำเร็จอยู่ตรงไหน
ไม่เคยตั้งเป้าว่าแต่ละปีจะต้องซื้อแฟรนไชส์จากเกาหลีมากี่แบรนด์ แต่เวลาเจอแบรนด์ที่มีศักยภาพ ก็ไม่อยากปล่อยให้โอกาสหลุดมือไป จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจในสยามสแควร์มานานกว่า 10 ปี และทำธุรกิจร้านอาหารมา 6 ปี ทำให้เกศเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในย่านนี้ ที่ผ่านมาเราไม่ได้เจาะจงซื้อแฟรนไชส์เฉพาะร้านดังที่เกาหลี เพราะร้านดังไม่ได้แปลว่าพอเอามาเปิดที่เมืองไทยแล้วจะปัง แต่ความสำเร็จเกิดจากการอ่านเกมให้ขาดเข้าใจผู้บริโภค รู้วิธีการทำการตลาดและปั้นแบรนด์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในย่านสยาม ฉะนั้น ร้านที่เกศเลือกต้องเป็นร้านที่เราถูกใจทั้งรสชาติ และมีแบรนดิ้งที่สามารถตอบโจทย์คนไทยได้จริงๆ กลยุทธ์สำคัญในการปั้นแบรนด์ของเราคือ การนำแบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์มาปรับให้เข้ากับรสนิยมและวัฒนธรรมการกินดื่มของคนไทย เพื่อเสิร์ฟความเป็นเกาหลีในแบบที่ถูกใจคนไทยมากที่สุด อย่างร้าน “Dosan Dalmatian by Mammamia” ก็ตั้งใจออกแบบให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของสยามสแควร์
ทำไมทุกธุรกิจของพี่น้องบ้านนี้ต้องเลือกปักหมุดที่สยามสแควร์
เราเลือกปักหมุดสาขาแรกที่สยามสแควร์ เพราะโตมากับสยาม ซึ่งเป็นที่ที่ให้โอกาสเราในการสร้างธุรกิจตั้งแต่แรก เราเลยอยากให้ทุกย่างก้าวของเราเติบโตไปพร้อมกับสยามสแควร์ ด้วยการสร้างความเจริญให้ย่านนี้ กลายเป็นแลนด์มาร์กเด่นของกรุงเทพฯ ที่ดึงดูดคนทุกเพศทุกวัย สำหรับเกศไม่เคยมองว่าร้านอื่นเป็นคู่แข่ง แต่มองว่าทุกคนเป็นพันธมิตรของเราที่จะมาช่วยกันทำให้สยามดีขึ้น แม้สยามจะเป็นไพรม์โลเกชัน แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะได้โลเกชันร้านที่ดีที่สุดเสมอไป หน้าที่ของเราคือ เราต้องเปลี่ยนโลเกชันที่มีให้เป็นทำเลทองให้ได้ ด้วยการออกแบบร้านและสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแรง จนทำให้ที่ตั้งของร้านเรากลายเป็นไพรม์โลเกชัน
น้องๆกระโดดเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารได้อย่างไร
เกศ : หลังจากมินและมายเรียนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เกศก็ชักชวนน้องๆเข้ามาทำ
ธุรกิจร้านอาหารในสยามสแควร์ โดยมินทำธุรกิจแรกเมื่อปี 2561 เริ่มจากเปิดร้าน “yuzu omakase” และ “yuzu ramen” เกศช่วยเซตอัปนิดๆหน่อยๆช่วง 3 เดือนแรก พอเขาตั้งไข่ได้ก็ปล่อยให้ลองผิด
ลองถูกเอง
มิน : ผมได้แรงบันดาลใจจากพี่สาว ประกอบกับชอบราเมนเป็นทุนเดิม พอเปิดแล้วเวิร์กจึงขยายธุรกิจออกมาเรื่อยๆ ผมชอบครีเอตอาหารใหม่ๆและชอบทานรสชาติไม่จำเจ ผลิตภัณฑ์ของเรามีจุดขายเฉพาะตัว เพราะเราเป็นเจ้าแรกในเมืองไทยที่ใช้ส้มยูซุเป็นส่วนผสมในราเมน ซึ่งร้านอาหารในเครือของผมจะเกี่ยวข้องกับส้มยูซุ
สมาย : เห็นพี่ๆทำงานเก่ง เราก็อยากเก่งไปด้วย หลังเรียนจบกลับมาไปฝึกงานกับพี่มินก่อน พี่มินให้ไปนั่งเป็นแคชเชียร์เก็บเงินและเป็นเด็กเสิร์ฟในร้าน เพื่อให้สัมผัสลูกค้าใกล้ชิด จะได้เข้าใจว่าลูกค้าชอบอะไร ต้องการบริการแบบไหน จากนั้นก็ขยับมาดูหลังบ้าน ต้องดูบัญชีให้เป็น คุมจัดซื้อให้ได้ ต้องมีการเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง พอทำครบทุกลูปพี่ชายถึงปล่อยให้ลุยเปิดบริษัทของตัวเอง ทำร้านอาหารเกาหลีและไก่ทอด “Chicken Club” เมื่อปี 2563 จากนั้นเปิดร้านหมูกระทะคนรวย และร้านทงคัตสึ “KOGORO”
จนถึงวันนี้เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชนของสามพี่น้องคืออะไร
เกศ : อยากปลุกปั้นธุรกิจให้เป็นผู้นำตลาดอาหารและเครื่องดื่มสไตล์เกาหลีในเมืองไทย สำหรับเกศการจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ได้วัดจากจำนวนแบรนด์ที่เรานำเข้า หรือตัวเลขการเติบโตของบริษัท แต่ต้องมาจากกระแสตอบรับของลูกค้า เมื่อไหร่ที่เราเป็น top of mind ลูกค้าคิดถึงอาหารและเครื่องดื่มสไตล์เกาหลีจะต้องนึกถึงเรา เมื่อนั้นถึงพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นผู้นำตัวจริงในตลาดนี้ เกศเชื่อว่าเทรนด์เกาหลียังอยู่ในกระแสอีกอย่างน้อย 10 ปี
มิน : ผมอยากทำธุรกิจให้ดีที่สุด ฝันอยากขยายธุรกิจไปทั่วประเทศ อยากให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของผมมากขึ้น สำหรับผมคุณพ่อถือเป็นไอดอล ท่านสอนว่าให้ตั้งใจทำธุรกิจ ต้องซื่อสัตย์สุจริต และห้ามเอาเปรียบคนอื่น ผมนำสิ่งนี้มาปรับใช้ตลอด การทำธุรกิจร้านอาหารสิ่งสำคัญที่สุดคือความยั่งยืน ทั้งความยั่งยืนด้านคนและความยั่งยืนของระบบ ทำยังไงให้พนักงานทุ่มเททำงานเพื่อบริษัท ทำยังไงให้มีความคงที่ของรสชาติอาหารและบริการ ผมตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจในเครือของเราจะต้องมีรายได้แตะพันล้านบาท สำหรับผมเรื่องสติสำคัญที่สุดในการทำงาน ผมนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก เพื่อรีโฟกัสจิตใจตัวเองเสมอ ก่อนนอนทุกคืนผมจะแผ่เมตตาเพื่อรีเซ็ตตัวเอง ผมเชื่อว่าถ้าเราคิดบวกจะได้สิ่งดีๆเสมอ ฉะนั้นเวลาทำงานเราต้องหวังดีกับทุกคนเสมอ เราห้ามหวังร้ายห้ามเอาเปรียบใคร
สมาย : ความเครียดของมายคือมีพี่ๆที่ประสบความสำเร็จมาก ทำยังไงเราถึงจะถีบตัวเองให้เก่งและประสบความสำเร็จเหมือนพี่ๆ ช่วงทำงานแรกๆมายร้องไห้ทุกวัน เพราะไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน มายทำธุรกิจมา 3 ปี ถ้าถามว่าภูมิใจในตัวเองหรือยัง ก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่พอใจ รู้สึกว่าเราต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ มายอยากมีเงินเป็นพันล้าน ต้องถีบตัวเองให้ดีกว่านี้ เราต้องพัฒนาตัวเองทุกวัน ไอดอลจริงๆของมายคือพี่มิน เขาโตกว่าเราแค่ 2 ปี เวลาก็มี 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่ทำไมพี่มินทำอะไรได้เยอะจัง มายคิดว่ามีอีกเยอะเลยที่เราต้องเรียนรู้
ใกล้ความฝันได้เป็นครอบครัวเศรษฐีฟอร์บส์หรือยัง
เป็นคนโลภฝันไกลว่าต้องเป็นมหาเศรษฐีฟอร์บส์สักวัน คนเราไม่แน่ไม่นอนในชีวิต เราอาจเจอโอกาสให้ได้ทำอะไรที่รวยกว่านี้ สำคัญที่สุดคือเกศอยากทำให้พ่อเห็นว่าเด็กเกเรคนนี้ทำได้ และเป็นต้นแบบที่ดีของน้องๆ สิ่งเดียวที่กลัวที่สุดคือเรื่องสุขภาพ เกศกลัวเป็นมะเร็ง กลัวเป็นภาระของคนรอบข้าง แต่อย่างอื่นหยุดเกศไม่ได้!! เกศเชื่อว่าคนเราไม่มีความจำเป็นต้องกลัว เราต้องกล้าเข้าไว้ ทุกวันนี้เกศนอนวันละไม่กี่ชั่วโมง เพราะอยากหาเงินให้ได้เยอะๆ ฝันอยากเป็นมหาเศรษฐีฟอร์บส์ที่สร้างตัวด้วยลำแข้งตัวเอง จนแม่ต้องคอยดึงว่าระวังนะทำงานหนักหาเงินได้เยอะๆ แต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เงิน.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ