สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีกไตรมาส 1/66 "น่ากังวล" หลัง ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน ผู้บริโภคชะลอจับจ่าย วอนรัฐบาลใหม่ยกเครื่องมาตรการชุบกำลังซื้อ
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ หรือ Retail Sentiment Index - RSI ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาส 1/66 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 มีความ น่ากังวล เนื่องจากปรับลดลงถึง 13.5 จุด
ในขณะที่ดัชนียอดขายสาขาเดิม SSSG หรือ Same Store Sales Growth (QoQ), ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง Spending Per Bill หรือ Per Basket Size และ ความถี่ในการจับจ่าย หรือ Frequency on Shopping ต่างพากันปรับตัวลดลง สะท้อนถึงผู้บริโภคฐานราก กำลังซื้อยังอ่อนแออยู่มาก
รวมทั้งภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร ส่งผลให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคลดกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยความกังวลฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นและโรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดดจากอากาศที่ร้อนจัด
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีตามภูมิภาคพบว่าความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมทรงตัวทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสานที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่สมดุล เห็นได้ว่าพื้นที่ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น
ทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพและความงาม มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีการชะลอตัว และร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว
โดยทางสมาคมฯ จึงมีความเห็นว่าหลังการเลือกตั้ง ควรรีบจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อเร่งกำหนดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการสร้างงาน การจ้างงาน และลดภาระค่าครองชีพซึ่งต้องมีมาตรการหลากหลาย มุ่งเป้าให้ตรงกลุ่มต่างๆ ไม่ซ้ำซ้อน
เน้นการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้บริโภคฐานรากที่ยังอ่อนแอเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ในขณะที่ผู้บริโภคระดับบน, ผู้มีรายได้ประจำที่มีกำลังซื้อต้องใช้มาตรการต่างชุดกัน โดยเน้นย้ำว่ารัฐต้องคลอดมาตรการที่ต่อเนื่องและระยะยาวจนกว่าจะเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน
สำหรับบทสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับประเมินการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกของผู้ประกอบการที่สำรวจ 3 ช่วง ระหว่างวันที่ 17 ม.ค. - 26 มี.ค. 66 ดังนี้
1. การประเมิน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ต่อการปรับราคาสินค้า ผู้ประกอบการร้อยละ 79 ระบุว่า ที่ผ่านมาธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นแต่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วนเท่านั้น
ร้อยละ 21 ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดเข้าสู่ราคาสินค้าแล้ว
ร้อยละ 40 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้าไม่เกิน 10%
ร้อยละ 31 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้า 10-20%
ร้อยละ 7 ส่งผ่านต้นทุนเข้าสู่ราคาสินค้า 21-30%
2. แนวโน้มในการปรับราคาสินค้าเพื่อให้สอดรับกับราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ร้อยละ 24 ไม่ปรับราคาเพิ่ม
ร้อยละ 43 ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5 %
ร้อยละ 26 ปรับเพิ่มขึ้น 6-10%
ร้อยละ 7 ปรับเพิ่มขึ้น 11-20%
3. ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับราคาสินค้า
อันดับ 1 ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
อันดับ 2 ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทั้งหมด
อันดับ 3 ราคาสินค้า / บริการอื่นที่ไม่ใช่ต้นทุนปรับสูงขึ้น
อันดับ 4 คู่แข่งปรับขึ้นราคา
อันดับ 5 รักษากำไร
อันดับ 6 อุปสงค์ดีขึ้น
นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีประเมิน โครงการช้อปดีมีคืน (ระหว่าง 1 ม.ค. - 16 ก.พ. 66) มีผลดังนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ประเมินว่า โครงการช้อปดีมีคืน จะช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 43 ยอดขายเท่าเดิม-ไม่เพิ่มขึ้น
ร้อยละ 50 ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10%
ร้อยละ 7 ยอดขายเพิ่มขึ้น 10%-20%
นายฉัตรชัย กล่าวว่า โดยสรุปภาพรวมการค้าปลีกไทย มีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (K-Shaped Recovery) กำลังซื้อโดยรวมยังเปราะบาง โดย เฉพาะกลุ่มฐานรากที่อ่อนแอ ปัญหาค่าแรงแพง และแรงงานขาดแคลน นับเป็นปัญหาหลักของภาคค้าปลีกและบริการ
อย่างไรก็ตามรัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องการเพิ่มรายได้ของกลุ่มฐานราก และเพิ่มการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายและท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อผลักดันภาพรวมของค้าปลีกไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง