ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เร่งโลกแบ่งขั้ว ธุรกิจปรับตัวอย่างไร

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เร่งโลกแบ่งขั้ว ธุรกิจปรับตัวอย่างไร

Date Time: 11 ก.พ. 2566 05:30 น.

Summary

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นมาก เร่งโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (decoupling) ชัดขึ้นกว่าเดิม แม้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านานแล้ว

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"


ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ผู้เขียนมีโอกาสร่วมเสวนาในหัวข้อ “Geopolitics: The Big Challenges : โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” กับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้พร้อมฟังมุมมองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ผู้บริหารแวดวงภาครัฐและภาคเอกชนไทยขอเอาไฮไลต์บางส่วนมาฝากแฟนคอลัมน์ให้เท่าทันสถานการณ์ไปด้วยกันค่ะ

สงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทำให้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นมาก เร่งโลกแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (decoupling) ชัดขึ้นกว่าเดิม แม้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านานแล้วหลายคู่ประเทศขัดแย้งกันมานานยังไม่จบ เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้ เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ อิหร่าน-สหรัฐฯ สหรัฐฯ-จีนในสงครามการค้าและเทคโนโลยี แต่สถานการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนที่เกิดขึ้น เป็นชนวนเหตุให้สหรัฐฯและพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียและยกระดับขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งขั้วตามมา

ถึงแม้รัสเซีย vs ยูเครนจะหยุดสู้รบกันลงได้ แต่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เร่งโลกแบ่งขั้วจะยังอยู่อีกนาน หากโลกแบ่งขั้วจำกัดวง (limited decoupling) แค่กลุ่มสินค้าที่กระทบความมั่นคงประเทศ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง (ชิป) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะไม่มากถ้าเทียบกับกรณีโลกยังเติบโตไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ได้เหมือนเดิม หากโลกแบ่งขั้วสุดซอย แยกขั้วสหรัฐฯ vs ขั้วจีนชัดเจนทุกธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โลกจะเสียประโยชน์มาก

หลายคนมองว่าโอกาสเห็นโลกแบ่งขั้วสุดซอยคงไม่เยอะ ไม่มีประเทศไหนอยากไปอยู่ในจุดที่ต่างฝ่ายต่างเสีย แต่ก็อย่าลืมว่ายุคโลกสวนกระแสโลกาภิวัตน์ ตรรกะเดิมอาจใช้ไม่ค่อยได้แล้ว กลยุทธ์ยอมเจ็บตัวแค่เห็นเค้าเจ็บกว่าแบบตอนนี้อาจพาโลกไปสู่ดุลยภาพใหม่ที่แย่ลงแน่ แต่ละประเทศเสียประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างกันไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าแรงงาน เงินทุน เทคโนโลยี ตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง

ในกรณี limited decoupling ผลกระทบสุทธิต่อไทยและอาเซียนอาจเป็นบวกได้ ตอนนี้ไทยและหลายประเทศอาเซียนใช้กลยุทธ์ผูกมิตรทุกประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้ หากโลกไม่ได้แบ่งขั้วจริงจังยังเหลือใยกันได้ ก็จะยังพอใช้ท่าทีเป็นกลาง (neutral) ได้อยู่ ไทยจะได้ประโยชน์จากขั้วขัดแข้งที่ย้ายฐานการผลิตสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น การส่งออกสินค้าทดแทนตลาดขั้วขัดแย้ง และการนำเข้าบางสินค้าที่ราคาโลกอาจถูกลงเพราะอุปสงค์โลกจากตลาดสองขั้วหายไป ขณะที่ไทยจะเสียประโยชน์จากสินค้าในประเทศถูกสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันตลาดในประเทศ และสินค้าส่งออกไทยไปเป็นวัตถุดิบให้จีนผลิตส่งออกตลาดอีกขั้วอาจน้อยลง

ธุรกิจทั่วโลกกำลังวางแผนเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานมาอยู่ใกล้ตัวขึ้น (near-shoring) IMF พบว่าจำนวนบริษัทต่างๆในโลกที่มองกลยุทธ์เตรียมย้ายฐานการผลิตการลงทุนมาอยู่ใกล้ขึ้นเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าในปี 2022 เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ไม่ให้สะดุดลงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้อีก

จังหวะนี้เป็นโอกาสธุรกิจไทยออกจาก comfort zone ปรับตัวเดินเกมรุกรับให้ทันโลก โดยบริหารความเสี่ยงกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดโลกที่เปลี่ยนเร็วและเจาะตลาดใหม่ที่ยังไม่เลือกขั้ว รวมถึงเตรียมปรับโมเดลธุรกิจรับเทรนด์ดิจิทัลและรักษ์โลก เตรียมความพร้อมคนและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ เดินเกมรุกในจังหวะที่ไทยยังใช้กลยุทธ์ผูกมิตรกับทุกขั้วได้ค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ