กลุ่มตู้เต่าบิน เตรียมออกโปรดักต์ใหม่ กิ้งก่า อีวี พร้อม ลุยธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า คาดเปิดตัวเป็นทางการไตรมาส 2 นี้ พร้อมปลดล็อกข้อจำกัดการชาร์จ หวังสร้างการเติบโตสูงใน 3 ปี
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ กิ้งก่าอีวี โดยเป็นการต่อยอดมาจากตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ เต่าบิน ที่ประสบความสำเร็จในปัจจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่ากิ้งก่า อีวี จะเริ่มทำการตลาดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
“บริษัทกำลังจะรุกในธุรกิจสถานีชาร์จ รถไฟฟ้า โดยจะใช้แบรนด์ กิ้งก่า อีวี ซึ่งจะต่อยอดความสำเร็จตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติเต่าบินที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางเราคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้”
ทั้งนี้ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กิ้งก่าอีวี จะดำเนินการจาก FSMART โดยตรง ซึ่งจะใช้นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาจากการให้บริการจากตู้เติมเงินบุญเติม และ จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติเต่าบิน เข้ามาช่วย โดยจะแก้ไขปัญหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ผู้ใช้ต้องโหลดแอปพลิเคชันของแต่ละค่าย เพื่อใช้บริการและชำระเงินค่าเติมไฟฟ้า
แต่ในฝั่ง กิ้งก่าอีวี นั้น ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้แอปพลิเคชันของบริษัทก็สามารถเติมเงินได้ โดยจะชำระเงินผ่านหน้าจอสัมผัส ในรูปแบบเดียวกับตู้เต่าบิน ทำให้ลูกค้าสะดวกสบายในการใช้บริการ และสามารถเติมเครดิตสะสมในเบอร์โทรศัพท์เพื่อใช้ในการเติมครั้งถัดไปได้
นอกจากนี้ บริษัทยังมีอินโนเวชั่น ในการทำการตลาดในหลายส่วน เพื่อช่วยในการบริหารจัดระบบการชาร์จไฟฟ้า ทั้งระบบการรอคิว จัดเก็บเงิน เก็บที่จอดรถยนต์ โดยแผนการขยายตู้ของ กิ้งก่า อีวี ในเบื้องต้น จะมีระบบ AC เท่านั้น เพราะประเมินว่า สถานีชาร์จแบบ DC แม้จะมีการชาร์จไฟที่เร็วแต่มีการลงทุนต่อจุดมากกว่า 1 แสนบาท ดังนั้นอาจจะไม่คุ้มค่าในระยะสั้น ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นการตั้งจุดสถานีชาร์จในพื้นที่อาคาร คอนโดมิเนียม ออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และมีเวลาในการชาร์จไฟที่นานกว่า
อย่างไรก็ตาม สำหรับอนาคตของธุรกิจด้านชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตมากแค่ไหนในอนาคตนั้น ส่วนตัวมองว่า ขึ้นอยู่กับการตอบรับของผู้บริโภคที่จะมีความมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แม้เวลานี้จะมีกระแสการตื่นตัวของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปริมาณเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั้งระบบยังมีสัดส่วนที่น้อยอยู่ ทำให้อาจต้องใช้เวลาถึง 3 ปีที่จะประสบความสำเร็จ