เคทีซีปรับใหญ่สู่องค์กรแข็งแกร่ง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง! มั่นใจปี 66-67 เดินหน้าทำนิวไฮต่อเนื่อง หลังจากนั้นอีก 3 ปี (ปี 68-70) กำไรต้องแตะระดับหมื่นล้าน ขณะที่ปี 66 ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 10% หรือราว 264,000 ล้านบาท มีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” โต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่มขึ้น 9,100 ล้านบาท
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ปี 66 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเคทีซี ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ กระบวนการ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด “A Transition to the New Foundation” โดยเฉพาะการพัฒนา Mindset ของคนในองค์กรให้มีดีเอ็นเอเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่เราพยายามดูแลและพัฒนามาตลอดตั้งแต่เข้ามาร่วมงานกับเคทีซี โดยนอกจาก 3 ค่านิยมองค์กรหลัก (Core Value) ที่คนเคทีซียึดถือเป็นแนวทางในการทำงาน อันได้แก่ 1.กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง 2.ทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อน และ 3.ทำสิ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ จากนี้เราจะมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความไว้วางใจ (Trusted Organization) ภายในองค์กรให้แกร่งยิ่งขึ้น เพื่อส่งต่อความไว้วางใจนี้ไปสู่สมาชิก องค์กร ผู้ถือหุ้น และสังคม
“ปีนี้ต่อเนื่องปี 67 ซึ่งจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านซีอีโอของเคทีซี เพราะผมจะครบ 2 วาระการดำรงตำแหน่งซีอีโอ 8 ปี ซึ่งได้วางรากฐานให้องค์กร และวางทีมบริหารรุ่นใหม่เข้ามาดำเนิน ธุรกิจ เพราะ KTC ได้ปักธงไว้ว่าปี 66–67 กำไรจะเดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ต่อเนื่อง หลังจากนั้นอีก 3 ปี (ปี 68–70) ตั้งเป้ามีกำไรสุทธิแตะระดับ 10,000 ล้านบาทให้ได้ในปี 70”
นายระเฑียรกล่าวว่า สำหรับทิศทางธุรกิจปี 66 เคทีซีจะเริ่มปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมองค์กรให้เป็นโครงสร้างแบบแนวราบ (Flat Organi zation) และมีหน่วยงานใหม่ๆเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะบูรณาการไอที (Information Technology) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 3 มิติ คือ 1.Enterprise Architecture การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ไอที และระบบปฏิบัติการ 2.Enterprise Skill Assets ส่งเสริมให้คนเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ และ 3. Enterprise Data Assets การบริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อให้เคทีซีมีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและกำไรเดินหน้าทำนิวไฮต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของเคทีซีแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจหลัก (Existing) ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกัน กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New S Curve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง และกลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator)
“ธุรกิจบัตรเครดิตยังเป็นธุรกิจหลักที่เคทีซีให้ความสำคัญ โดยขณะนี้เกือบทุกหมวดใช้จ่าย มีการเติบโตสูงกว่าปี 62 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่วนธุรกิจสินเชื่อหลังเปิดประเทศ พบว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่าย อีกทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” และ “เคทีซี พราว” เข้าไปเติมเต็มความต้องการ แต่ยอมรับว่าตลาดสินเชื่อเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีการแข่งขันรุนแรงจากธนาคารและนอนแบงก์”
นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานการตลาดบัตรเครดิต กล่าวว่า ตั้งเป้าการเติบโตในธุรกิจบัตรเครดิต ปี 66 มียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 10% หรือราว 264,000 ล้านบาท คาดมีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ ทั้งนี้ จากการวางกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิต จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้คล่องตัวมากขึ้น บน 5 แกนสำคัญ คือ 1.การบริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างโปรแกรมการตลาดเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และนำระบบออโตเมชัน (Automation) มาใช้บริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร 2.เน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือน ตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป
3.จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี เน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม หมวดช็อปปิ้งออนไลน์และหมวดท่องเที่ยว 4.ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น จัดแคมเปญการตลาดขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด 5.บริหารจัดการการสื่อสารการตลาดให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นทำคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซี ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ด้านนางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ กล่าวว่า ธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงิน “เคทีซี พี่เบิ้ม” ตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อปี 66 ไว้ที่ 9,100 ล้านบาท จากปีนี้คาดทำได้ราว 1,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้พอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคงค้างปี 66 จะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร รวมทั้งแอปเป๋าตังด้วย อีกทั้งจะเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ
“เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลทฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเคทีซี พี่เบิ้ม เปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิต และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่น
นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า สำหรับธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) คาดว่าพอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลสิ้นปี 66 จะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่ เคทีซี พราว เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ราย โดยขยายช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มที่การเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกจากโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง รวมทั้งเดินหน้าสร้างความผูกพันระหว่างเคทีซีกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และการส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า.