สแกนเกมชิงดำ "ควบรวม-ซื้อกิจการ" ค่ายมือถือ ปี 66 ธุรกิจโทรคมนาคมเดือด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สแกนเกมชิงดำ "ควบรวม-ซื้อกิจการ" ค่ายมือถือ ปี 66 ธุรกิจโทรคมนาคมเดือด

Date Time: 9 ม.ค. 2566 06:53 น.

Summary

  • การควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รวมทั้งการประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

การควบรวมกิจการระหว่างบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รวมทั้งการประกาศเข้าซื้อกิจการบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแบรนด์ 3BB ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้นั้น

จะเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของกิจการโทรคมนาคมไทยครั้งใหญ่ในรอบทศวรรษ จากจำนวนผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดมือถือและอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน (fixed line) ที่ลดลง 1 ราย ทั้งจากการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ

สำหรับตลาดมือถือ ผู้เล่นเบอร์ 1 ตลอดกาลอย่างเอไอเอส จะขยับลงมาเป็นเบอร์ 2 เมื่อส่วนแบ่งตลาดของทรูและดีแทครวมกันเป็น 49.40% (ทรู 31.99% และดีแทค 17.41%)เหนือเอไอเอสที่มีส่วนแบ่ง 47.72% (ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2565)

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินในมุมของส่วนแบ่งรายได้ เอไอเอสยังนำโด่งอย่างยากที่จะโค่นลงภายในระยะเวลาอันสั้น แม้การควบรวมจะทำให้ทรูและดีแทคขยับขึ้นมาแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งขึ้น ส่วนผู้เล่นรายที่ 4 อย่างบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ NT ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือทีโอทีและแคทเทเลคอมนั้น มีฐานลูกค้าราว 2 ล้านราย ในทางทฤษฎีผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่เกิน 5% ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ตลาดอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ตามบ้าน ตัวเลขจากสำนักงาน กสทช.ระบุ มีผู้ให้บริการรายใหญ่ 4 รายหลัก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 97.05% ได้แก่ ทรู, 3BB, NT และเอไอเอสไฟเบอร์ ตามลำดับ โดยเมื่อเอไอเอสซื้อ 3BB ได้สำเร็จ ส่วนแบ่งตลาดบรอดแบนด์บ้านของเอไอเอสจะเพิ่มเป็น 41.3% ขยับขึ้นเป็นเบอร์ 1 ทิ้งห่างทรูซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ 35.33%

นอกจากจำนวนผู้เล่นในตลาดที่ลดลงฐานลูกค้าที่ขยายใหญ่ขึ้นผ่านการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ จากเบอร์ 2 เบอร์ 3 และเบอร์ 4 ขยับขึ้นเป็นผู้นำตลาด โอกาสทางธุรกิจย่อมเพิ่มมากขึ้นด้วย

ปี 2566 นี้ จึงเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง ต่อการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงข่ายมือถือ อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สายและบรอดแบนด์ตามบ้าน ที่ทุกวันนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนในโลกยุคใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการมากกว่า 90 ล้านเลขหมาย...อย่างไม่ต้องสงสัย

ทรู-ดีแทคดีลใหญ่วาระแห่งชาติ

ย้อนกลับไปตั้งแต่ประกาศควบรวมกิจการกันเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ทรูและดีแทคถูกกระแสโจมตี เตะตัดขา ทั้งจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เอ็นจีโอ นักวิชาการ คู่แข่งอย่างเอไอเอสเอง หรือแม้แต่บอร์ด กสทช.บางรายที่แสดงจุดยืนชัดเจนไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ด้วยมีความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด หลังผู้ให้บริการหลักลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย

แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 หลังประชุมยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง บอร์ด กสทช.ได้มีมติรับทราบการควบรวมกิจการทรูและดีแทคโดยเสียงข้างมาก 3 : 2 เห็นว่าบอร์ด กสทช.มีอำนาจเพียงรับทราบและกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมถือเป็นการเปิดไฟเขียวสว่างโร่จากหน่วยงานกำกับดูแล

เบื้องหลังมติเสียงข้างมาก ที่สรุปจบได้สำเร็จมาจากการใช้สิทธิออกเสียง 2 ครั้งของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เนื่องด้วยมี 1 บอร์ดที่งดออกเสียง (จากบอร์ดจำนวน 5 คนในขณะนั้น) นั่นคือ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการด้านกิจการกระจายเสียง โดยให้เหตุผลว่ายังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายที่ยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจน

ท่ามกลางผลการศึกษามากมายจากหลายแหล่งข้อมูล “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ” ขอหยิบยกความเห็นต่อการควบรวมกิจการของ พล.อ.ท.ธนพันธุ์มาเผยแพร่ต่อ ในฐานะบอร์ด ที่งดออกเสียง โดยเป็นความคิดเห็นที่สรุปจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีกรณีทรูควบรวมดีแทค ที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์เป็นประธาน

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร กสทช.ประจำปี 2565 ว่า การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ส่งผลกระทบมหาศาลต่อผู้บริโภค ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเงินการลงทุน

การพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่มีต่อระดับการแข่งขันและการเกิดผู้มีอำนาจเหนือตลาด ให้ใช้วิธีการประเมินแบบ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) เป็นหลัก หากหลังควบรวม ค่า HHI เกินกว่า 2,500 และค่า HHI เพิ่มขึ้นเกินกว่า 100 อาจชี้ให้เห็นว่าการรวมธุรกิจนั้นเข้าข่ายครอบงำตลาด ซึ่ง กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายได้

ซึ่งจากการคำนวณพบว่า ระดับความน่ากังวลอยู่ในโซนอันตราย หลังควบรวมทรูและดีแทคจะมีส่วนแบ่งตลาดเป็น 54% ส่วนเอไอเอส 46% ซึ่งจะทำให้ค่าดัชนีการกระจุกตัว HHI เพิ่มเป็น 5,032 หน่วย เพิ่มจากก่อนควบรวม 1,360 หน่วย จึงควรมีการพิจารณาผลกระทบจากการรวมธุรกิจอย่างรอบด้าน

จากการวิเคราะห์ด้านการให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป การควบรวมจะทำให้ลูกค้าดีแทคได้รับบริการหลากหลายขึ้น เนื่องจากดีแทคให้บริการโครงข่ายมือถือเพียงอย่างเดียว ขณะที่ทรูมีบริการที่หลากหลายกว่าทั้งอินเตอร์เน็ตบ้าน โทรทัศน์ สื่อผสม

แน่นอนว่าการรวมธุรกิจ อาจเป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน เนื่องจากมีแบนด์วิธ (Bandwidth) เพิ่ม โดยเฉพาะต่อลูกค้าดีแทค แต่เป็นการลดทางเลือกในตลาดมือถือลงเหลือ 2 ราย โดยเฉพาะเมื่อดีแทค มักเป็นผู้เล่นที่สร้างความรุนแรงในการแข่งขัน ราคา เพื่อชดเชยข้อเสียเปรียบที่ไม่มีบริการหลากหลายเหมือนคู่แข่ง

กสทช.ต้องกำกับดูแลเข้มข้น!!

ทั้งนี้ การอนุญาตให้ทรูควบรวมดีแทค หากสามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ จะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนคลื่นที่ดีแทคกำลังเผชิญอยู่ แต่อาจส่งผลให้ความต้องการคลื่นระยะสั้นลดลง ไม่เกิดการใช้คลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น การเปิดให้ร่วมใช้ทรัพยากรของกันและกันได้ จะช่วยให้เกิดการประหยัดเชิงขนาด (Economy of scale) ลดต้นทุนซ้ำซ้อน แต่จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ไม่มีเครื่องการันตีว่าหลังรวมธุรกิจจะมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพ กสทช.จึงอาจจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการกำกับดูแลให้มีการขยายโครงข่ายและยกระดับคุณภาพของการให้บริการ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้คู่แข่งในตลาดที่เหลือ ต้องกระทำเช่นกัน

การรวมธุรกิจยังอาจเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันทางเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆได้ โดยควรกำหนดเป็นเงื่อนไขในการรวมธุรกิจว่าต้องลงทุนพัฒนาโครงข่ายให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น Edge computing และบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้าระดับองค์กร

ในกรณีที่เกิดมีการรวมโครงข่ายหลักหรือ Core network เข้าด้วยกัน ควรมีมาตรการส่งเสริมหรือสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนซิมการ์ดเพื่อให้เครื่องมือถือทั้งหมดเชื่อมต่ออยู่บนโครงข่ายที่ใช้เน็ตเวิร์กเดียวกัน ไม่ใช่ให้บริการผ่านการโรมมิ่ง ที่คุณภาพต่ำกว่า โดยควรกำหนดเงื่อนไขให้จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างละเอียดและเป็นรูปธรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้บริการให้มากที่สุด

ข้อเสนอแนะของ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ บางส่วนสอดคล้องกับมาตรการเฉพาะที่บอร์ด กสทช.มีมติเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ให้ทรูและดีแทคต้องดำเนินการตาม ตั้งแต่การกำหนดให้อัตราเฉลี่ยของค่าบริการลดลง 12%, การนำส่งข้อมูลต้นทุน, การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ใหม่, การยังให้ทั้ง 2 แบรนด์ให้บริการแยกกันเป็นเวลา 3 ปี, การต้องสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กในราคาที่กำหนด, การรักษาคุณภาพสัญญาณ ห้ามลดจำนวนเซลไซท์ เป็นต้น

มติบอร์ด กสทช.ยังให้กำหนดกลไกในการติดตามและประเมินผลการควบรวมธุรกิจ ผ่านการจัดตั้งคณะอนุกรรมการติดตาม และหากหลังควบรวม กสทช.พิจารณาและได้รับข้อร้องเรียนว่า มีการกระทำหรือพฤติกรรมหรือเหตุอันเป็นการผูกขาด, ลดหรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กสทช.สามารถระงับ ยกเลิก หรือเพิ่มเติมมาตรการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

เมื่อพิจารณาจากอำนาจที่ กสทช.มี เรื่องราวจากนี้น่าจะอยู่ที่ว่า กสทช.นั้น จะสามารถกำกับดูแลได้อย่างเข้มข้นและมีเจตนาปกป้องผู้บริโภคมากเพียงไร

เช่นเดียวกับกรณีการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของเอไอเอส ซึ่งกระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวน่าจะเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในเร็ววันนี้ โดย ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เปิดเผยไว้ว่า จะดำเนินการภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับกรณีทรูและดีแทค

ตลาดโทรคมนาคมใหม่เขย่าค่ายมือถือ

การทำความเข้าใจต่อกรณีควบรวมและเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยังน่าจะต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมใหม่ (New telco market) ที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

New telco market คือตลาดโทรคมนาคมที่ประกอบด้วยผู้ให้บริการโครงข่ายดั้งเดิมอย่างเอไอเอส ทรู และดีแทค รวมทั้งผู้ให้บริการดิจิทัลหลากหลาย ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันเพื่อการรับชมหนัง เพลงอย่างยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ สปอติฟาย ซึ่งให้บริการแขวนอยู่บนเครือข่ายมือถือ (OTT-Over the Top) ผู้ประกอบการดิจิทัลเหล่านี้ ไม่มีต้นทุนในการลงทุนโครงข่ายจำนวนมหาศาลอย่างที่ค่ายมือถือมี ไม่มีต้นทุนภาษี ต้นทุนการขออนุญาต หรือต้นทุนด้านการกำกับดูแล เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ

สภาพการณ์ของตลาดโทรคมนาคมในระยะ 4-5 ปีย้อนหลัง เราจึงได้เห็นภาพที่ทั้งเอไอเอส ทรู และดีแทคต่างพยายามขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เทคโนโลยีมากกว่าที่จะจำกัดความตัวเองว่าเป็นบริษัทที่ให้บริการโครงข่ายเพียงอย่างเดียว

ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ผู้บริการแบบ OTT มีการใช้ข้อมูลมหาศาลวิ่งผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย โดยเฉพาะบริการประเภทวิดีโอสตรีมมิง ต้นทุนตรงนี้ตกเป็นภาระของผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งหมด (Free riding) OTT จึงเป็นบริการที่มีรายได้จากการสร้างต้นทุนเพิ่มให้กับโครงข่าย

นอกเหนือจาก OTT แล้ว ผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือยังกำลังต้องเผชิญหน้ากับผู้เล่นรายใหม่อีกประเภท คือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมขนาดเล็ก วงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งบริษัทอย่าง Space X เตรียมให้บริการอยู่

การแข่งขันในยุคใหม่ จึงไม่ใช่การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมด้วยกันเท่านั้น หากแต่เป็นการแข่งขันข้ามแพลตฟอร์ม โดยที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมกลายเป็นท่อ (Pipe) หรือช่องทาง (Channel) ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านั้นใช้งานแบบฟรีๆ

เป็นความเหลื่อมล้ำที่จำเป็นต้องเร่งสร้างสมดุลในการแข่งขัน และการกำกับดูแลอาจต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้ผู้ให้บริการโครงข่ายในประเทศแข่งขันกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศที่ไม่มีต้นทุนได้

...ภูมิทัศน์ดังที่กล่าวมา จึงนำไปสู่กระบวนการรวมกันเราอยู่ แยกหมู่ตายเดี่ยว อย่างที่ปรากฏและกลายเป็น Big impact ในรอบทศวรรษ ดังที่เห็น...

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ