“ว่าที่ดีดีการบินไทย” คนใหม่ลั่น! เป้าหมายหลักหลังรับตำแหน่ง พร้อมเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับมาทำการบินในทุกเส้นทางบินที่เคยบิน หลังเคบินแฟคเตอร์ทุกเส้นทางพุ่งเฉลี่ยกว่า 85% ส่วนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศไม่จำเป็นต้องรีบขาย พร้อมสร้างรายได้จากเงินสดที่มีอยู่ มั่นใจนำพาการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯได้ก่อนกำหนด
นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังการบินไทยได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พ.ย.65 แต่งตั้งให้ตนเองดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) หรือดีดีการบินไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.66 เป็นต้นไปนั้น โดยงานหลักที่จะดำเนินการหลังเข้ามารับตำแหน่งคือ เดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยเป้าหมายหลักสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้น และลูกค้าของการบินไทยว่าการบินไทยจะเดินตามแผนฟื้นฟูฯ และในส่วนของเจ้าหนี้การบินไทยนั้น ระหว่างอยู่ในแผนและออกจากแผนแล้ว ตนจะยังสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ต่อไปเช่นเดิม เพราะหนี้ที่การบินไทยมีกับเจ้าหนี้ยังคงต้องชำระอยู่ และที่ผ่านมาการบินไทยไม่เคยผิดชำระหนี้กับเจ้าหนี้เลย ขณะเดียวกันตนจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับพนักงานการบินไทยซึ่งรวมกับพนักงานของสายการบินไทยสมายล์ ที่มีอยู่รวมกันกว่า 14,900 คน ให้มุ่งมั่นทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อให้การบินไทยพ้นจากแผนฟื้นฟูกิจการฯ โดยเป้าหมายตนจะพาบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูฯ ก่อนกำหนดที่ตั้งไว้ในปี 68
“ที่ผ่านมาผมได้พิสูจน์ตัวเองมาตลอด และวันนี้แผนฟื้นฟูฯ สามารถปฏิบัติได้จริง แม้ช่วงที่ผ่านมา การบินไทยไม่มีเงิน ทุกคนก็ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน คู่ค้าก็ให้ความร่วมมือ มาวันนี้เจ้าหนี้ยิ่งมั่นใจการบินไทยมากขึ้น จากเดิมที่ต้องกู้มาเสริมสภาพคล่อง แต่วันนี้ไม่ต้องการแล้ว เพราะการบินไทยได้กลับมาทำการบินแล้ว”
นายชายกล่าวต่อว่า ส่วนขั้นตอนการหาทุนใหม่นั้น ขณะนี้การบินไทยได้จดทะเบียนเพิ่มทุนแล้วจำนวน 31,000 ล้านหุ้น หรือ 336,000 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมตามแผนก็จะเป็นบวกด้วยการเพิ่มทุนจากเจ้าหนี้เดิม ซึ่งจะมีทั้งกระทรวงการคลัง จำนวน 12,800 ล้านหุ้น, สถาบันการเงินอีกราว 25,000 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อใหม่ยอมรับว่าขณะนี้การบินไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกู้เป็นเงินสด แต่ใช้เพื่อการค้ามากกว่า ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้จะอยู่ที่ 12,500 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยกลับมาทำการบินในหลายๆเส้นทาง ทำให้มีสภาพคล่องในมือกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้นแผนต่อไปนอกจากขับเคลื่อนการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะเร่งหารายได้ สร้างผลตอบแทนจากเงินสดในมือที่มีอยู่ให้มากขึ้น
ส่วนการกลับมาทำการบินปี 66 นั้น จะเน้นกลับมาทำการบินในเส้นทางที่เคยบิน ในเมืองหลักๆ เช่น ออสโลว์, มิลาน ประเทศในยุโรป และจีน เป็นต้น ล่าสุดพบว่าอัตราการบรรทุกปริมาณผู้โดยสาร (เคบิน แฟคเตอร์) ในทุกเส้นทางบินสูงเฉลี่ยถึง 85% และมั่นใจว่าจะสูงไปถึง 99% นอกจากนั้นในส่วนของการขายสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ยอมรับว่าการบินไทยไม่จำเป็นต้องรีบขาย เช่น อสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ เพราะขณะนี้ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยับตัวสูงขึ้น หากพื้นที่ใดเปิดเช่าได้ก็เน้นให้เช่า เช่น สำนักงานที่ฮ่องกง
นายชายกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันการบินไทยยังมีแผนผลักดันหน่วยธุรกิจย่อยที่มีศักยภาพนำไปต่อยอดจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ร่วมทุนกับพันธมิตร เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ ครัวการบิน คาร์โก้ ฝ่ายช่างหรือศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและการบริการภาคพื้น โดยปัจจุบันการบินไทยยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนและจัดหาพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะถือเป็นช่วงที่การบินไทยต้องมองหาโอกาสของการต่อยอดธุรกิจให้เกิดประโยชน์มากที่สุด.