โรงหนังกับป๊อปคอร์นเป็นของคู่กัน แต่ปี 65 นี้ "เมเจอร์" ขายป๊อปคอร์นได้ถึง 2,500 ล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

โรงหนังกับป๊อปคอร์นเป็นของคู่กัน แต่ปี 65 นี้ "เมเจอร์" ขายป๊อปคอร์นได้ถึง 2,500 ล้าน

Date Time: 12 ธ.ค. 2565 08:00 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • เราก็ไม่คิดมาก่อนว่าป๊อปคอร์นจะทำรายได้ให้เมเจอร์มากขนาดนี้ เมื่อปี 63 ที่เราขายป๊อปคอร์นผ่านฟู้ดเดลิเวอรีทำรายได้แค่หลักหมื่น แต่มาวันนี้เราขายป๊อปคอร์นได้มากกว่าวันละ 1 ล้านบาทแล้ว

Latest


"ไม่มีอะไรวิกฤติร้ายแรงเท่ากับโควิดแล้วครับ" วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR พูดติดตลกท่ามกลางงานแถลงข่าวซึ่งเขาได้พา วิศรุต พูลวรลักษณ์ ผู้อำนวยการ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารรุ่นที่สองมาร่วมพูดคุยกับเราด้วย

หากย้อนกลับไปช่วงโควิด โรงภาพยนตร์ หรือที่เราชอบเรียกติดปากว่า โรงหนังต้องปิดเพราะมาตรการล็อกดาวน์ พอกลับมาเปิดให้บริการก็ยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีเท่าที่ควร

วิชา บอกว่า ที่ผ่านมาโรงหนังผ่านการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตั้งแต่การเปลี่ยนจากแผ่นฟิล์มเข้าสู่ยุคดิจิทัล การดิสรัปชันของสตรีมมิงออนไลน์ จนมาถึงโควิด ซึ่งตอนปี 2563 ที่ต้องปิดโรงหนัง เมเจอร์จึงหารายได้ด้วยการนำป๊อปคอร์นมาขายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ พร้อมขยายช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แม้ในปีนั้นผลประกอบการจะขาดทุน 527 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นก็ตาม แต่เราก็เริ่มมองเห็นโอกาสในวิกฤติ

"เราก็ไม่คิดมาก่อนว่าป๊อปคอร์นจะทำรายได้ให้เมเจอร์มากขนาดนี้ เมื่อปี 63 ที่เราขายป๊อปคอร์นผ่านฟู้ดเดลิเวอรีทำรายได้แค่หลักหมื่น แต่มาวันนี้เราขายป๊อปคอร์นได้มากกว่าวันละ 1 ล้านบาทแล้ว"

เรียกได้ว่าทุกวันนี้คนทั่วไปได้เห็น ป๊อปคอร์น ภายใต้แบรนด์ "ป๊อปสตาร์" วางขายอยู่ในร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างสรรพสินค้า Modern Trade หลังเมเจอร์ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ในสัดส่วน 10.12% และเป็นผู้ถือหุ้นในอันดับที่ 3 ทำให้ช่องทางการจัดจำหน่ายมีมากขึ้น แน่นอนว่าเราได้เห็น "ป๊อปคอร์นเมเจอร์" โกอินเตอร์อีกด้วย

"ในปีนี้เราคาดว่าป๊อปคอร์นจะสร้างรายได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท และในปี 66 จะทำยอดขายได้กว่า 5,000 ล้าน แบ่งเป็นขายหน้าโรงหนัง 40% และนอกโรงหนัง 60%"

พูดถึงป๊อปคอร์นที่เป็นดาวเด่นสร้างรายได้ให้กับเมเจอร์ไปแล้ว แต่ Core Business จริงๆ ของเมเจอร์ก็ คือ การทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ซึ่งต่อจากนี้เมเจอร์จะเน้นการพัฒนาและสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ไทย โดยเราตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศให้ได้ 50% ด้วยการฉายภาพยนตร์ไทยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 2 เรื่อง หรือปีละ 20 เรื่อง เพื่อให้ดันไทยก้าวสู่การเป็น King of Content Hub

ขณะเดียวกันในปี 66 นี้หลายสตูดิโอดังก็เตรียมปล่อยหนังฟอร์มยักษ์ ซึ่งถือเป็นตัวเร่งรายได้ให้กับเราโดยโปแกรมหนังที่เตรียมออกฉายในโรงก็เช่น
- Spider Man
- Ant-Man and The Wasp
- John Wick
- Fast & Furious 10
- The Little Mermaid
- Transformers
- Indiana Jones
- The Marvels
- Mission Impossible
- The Hunger Games
- Aquaman and the Lost Kingdom

นวัตกรรมในโรงหนังสร้างประสบการณ์ไม่รู้ลืม

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการฉายหนัง คือ สิ่งที่เราต้องลงทุน ไม่ว่าจะเป็น IMAX with Laser ซึ่งเป็นระบบการฉายภาพยนตร์ผสมผสานการฉายภาพด้วยเลเซอร์ระดับ 4K ที่ก้าวล้ำไม่เหมือนใคร ด้วยระบบออปติคัลใหม่ เลนส์ที่ออกแบบเอง และชุดเทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ ซึ่งให้ภาพที่สว่างกว่าด้วยความละเอียดที่เพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยีนี้มีที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ไอคอน ซีเนคอนิค และจะขยายสาขาไอแมกซ์แห่งใหม่อีก 1 แห่ง พร้อมระบบการฉาย IMAX with Laser ที่ เมกา ซีนีเพล็กซ์

รวมไปถึงการทำโรงภาพยนตร์ ScreenX PLF ในรูปแบบ Premium Large Format แห่งใหม่ ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ด้วยความโดดเด่นของมุมมองการรับชมภาพที่กว้างมากขึ้นถึง 270 องศา คมชัดด้วย 3 จอขนาดยักษ์ที่ให้ภาพกว้างรวมกันมากถึง 55 เมตร และเป็นโรงภาพยนตร์แบบแรกของโลกที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทาง คือ จอด้านหน้า และจอบนกำแพงด้านซ้ายและขวา ด้วยเครื่องฉายหลายตัว หรือ Multi-Projection System

ลงทุนในเทคโนโลยี CAPSULE HOLOGRAM เป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ซื้อ CAPSULE HOLOGRAM ของ ARHT Media Inc. มาไว้ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ จะช่วยให้สามารถมอบประสบการณ์พิเศษแก่ผู้ชมที่ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงและเมตาเวิร์ส ทั้งในโรงภาพยนตร์และในงานพิเศษต่างๆ

โดยผู้ชมจะสามารถพบปะและทักทายกับโฮโลแกรม 3 มิติเสมือนจริง สามารถส่งสัญญาณสดไปยังหน้าจอได้จากทุกที่ในโลก และยังมีฟังก์ชันการทำงานแบบอินเตอร์แอคทีฟเต็มรูปแบบ อาทิ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว จอสัมผัส และกล้องสองทาง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้หลากหลายวิธี

กางแผนการลงทุนปี 66

สำหรับในปี 2566 เราเตรียมขยายสาขาโรงภาพยนตร์มากที่สุดถึง 13 สาขา 49 โรง ด้วยงบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ในรอบ 3 ปีนับจากโควิด รวมถึงขยายสาขาโบว์ลิ่ง เพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และ คาราโอเกะ 30 ห้อง โดยผู้ชมภาพยนตร์จะเจอกับเราได้ที่

- One Bangkok
- เซ็นทรัล เวสต์ วิลล์ ราชพฤกษ์
- โรบินสัน ฉลอง
- โลตัส นครนายก, สระแก้ว, นราธิวาส, ปัตตานี
- บิ๊กซี บางบอน, สระบุรี, ยะลา
- ไฮเปอร์ มาร์เก็ต 2 สาขา
- สแตนด์อโลนที่ภูเก็ต

ปัจจุบัน เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์มีสาขาโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง รวมสาขาโบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดให้บริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง โดยมีรายละเอียดังนี้

ในประเทศ 172 สาขา 800 โรง
- สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง
- สาขาในต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 

ต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง
- สาขาในประเทศลาว 3 สาขา 13 โรง 
- สาขาในประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 

วิชา บอกอีกว่า ผมอยากผลักดันวิถีคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ตัวละคร เครื่องแต่งกาย สถานที่ และอาหารในเมืองไทย ออกสู่ตาคนทั่วโลกผ่านภาพยนตร์ ให้เป็น Soft Power เทียบชั้นกับเกาหลีใต้ที่ขึ้นเป็น Role Model ของอุตสาหกรรมบันเทิงโลก ซึ่งในที่สุดจะนำรายได้กลับสู่ประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจ สร้าง GDP ให้ประเทศเติบโตได้ในอนาคต

"เราเชื่อว่าในปี 66 นี้ เมเจอร์จะมีรายได้กลับมาที่ 10,000 ล้านบาทเหมือนก่อนจะเกิดโควิด ซึ่งสัดส่วนรายได้จากการขายป๊อปคอร์นอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้าน  และการขายตั๋วหนังประมาณ 5,000 ล้าน" 

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ