มันนิกซ์ (MONIX) ฟินเทคสตาร์ทอัพในเครือ SCB X ร่วมมือกับ ADVANCE.AI จากสิงคโปร์ ยกระดับ'ฟินนิกซ์' แพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัล ทำ e-KYC ยืนยันตัวตนได้ภายใน 60 วินาที หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
อาชี โจว ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท มันนิกซ์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์การเงิน แต่มีความเข้าใจโลกดิจิทัล กลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของมันนิกซ์ ดังนั้นบริษัทจึงต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินที่ใช่และถูกต้องสำหรับผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและสะดวกด้วยแอปฟินนิกซ์ (FINNIX) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน แต่ยังคงรักษาความรวดเร็วและง่ายต่อการใช้งาน
มันนิกซ์ ได้ร่วมมือกับ ADVANCE.AI ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากประเทศสิงคโปร์ เพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้งานการระบุและพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) หรือ Electronic Know Your Customer ที่ทำให้ผู้ขอสินเชื่อยืนยันตัวตนเสร็จได้ภายใน 60 วินาที ด้วยการถ่ายรูปตนเองและบัตรประจำตัวประชาชนด้วยกล้องของสมาร์ทโฟน
บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2563 เป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน SCB X และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านผู้ใช้งานของทั้งสองกลุ่มธุรกิจ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบเดิมยังไม่สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันฟินนิกซ์ (FINNIX)
แอปพลิเคชันฟินนิกซ์เป็นบริการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การขอสินเชื่อจนถึงการอนุมัติสินเชื่อและเบิกถอน สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยที่เคยถูกธนาคาร หรือสถาบันการเงินปฏิเสธมาก่อน สามารถสมัครขอสินเชื่อได้อย่างง่ายดายภายใน 5 นาที ปัจจุบันแอปพลิเคชันฟินนิกซ์มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 7.5 ล้านครั้ง และมีคะแนนรีวิวแอปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 จาก 5 ในกูเกิลเพลย์และแอปเปิลแอปสโตร์ โดยปัจจุบันมียอดปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Macquarie กลุ่มบริษัทการเงินระดับโลกระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงานที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินของธนาคารสูงถึง 63% ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหรือธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางที่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคาร
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินในประเทศ เรื่องนี้อยู่จัดอยู่ในเป้าหมายลำดับที่ 8 จาก 17 เป้าหมายขององค์การฯ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งพัฒนาให้คนไทยกว่า 30 ล้านคนสามารถเข้าถึงระบบธนาคารและบริการภาคการเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่.