“ผิดหวังมากที่สุด” คือคำตอบของ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ผู้ยืนหยัดคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
สอดคล้องกับถ้อยวจี “มติอัปยศ” ของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่โพสต์เฟซบุ๊ก ประณามมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ที่รับทราบและไม่คัดค้านการควบรวมกิจการทรูและดีแทค
เช่นเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ผิดหวังและเป็นวันน่าเศร้าของเศรษฐกิจไทย”
ในห้วงที่อารมณ์ ความรู้สึกมาเต็มจากฝั่งคัดค้านการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอลำดับและประเมินเหตุการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอีกครั้ง หลังซบเซามานานจากการแข่งขันที่เริ่มอิ่มตัว การประมูลคลื่นความถี่ที่เคยคึกคัก นำเงินเข้ารัฐได้มากมายมหาศาลจนเข้าสู่ยุคฝืดเคือง กระสุนหมด
เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค คือการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมไปตลอดกาล แม้ทรูและดีแทคจะพยายามอย่างมากที่จะบรรลุข้อตกลง ซึ่งพวกเขามองว่าคืออนาคตอันสดใส ที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างเข้มแข็งทั้งในและนอกประเทศ เพราะในโลกธุรกิจ สิ่งสำคัญคือความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขัน เดิมพันครั้งนี้จึงสูงและคุ้มค่าที่จะเดินหน้าลุย!!
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อผู้ใช้มือถือในประเทศเกือบ 100 ล้านเลขหมาย ย่อมต้องมาพร้อมกับความเจ็บปวด ทั้งต่อผู้บริโภค คู่แข่ง กระทบชิ่งไปถึงหน่วยงานกำกับดูแล และต่อทรู-ดีแทคเอง...
ประธานบอร์ดพลีชีพโหวต 2 เสียง
หลังจากขอเวลาศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ในที่สุดที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ก็สรุปจบภารกิจที่ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน เม.ย.2565 โดยใช้เวลาประชุมมาราธอนกว่า 11 ชั่วโมง
มติเสียงข้างมากก็ได้เคาะรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในสัดส่วน 3:2 โดยมติที่แท้จริงคือ 2:2:1 เนื่องจาก พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองประธาน กสทช. งดออกเสียง ขณะที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ รวม 2 เสียง เห็นว่าบอร์ดมีอำนาจแค่รับทราบการควบรวม แต่สามารถกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ส่วนอีก 2 เสียงได้แก่ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต สงวนความเห็นไม่อนุญาตให้มีการควบรวม
เมื่อไม่สามารถบรรลุมติเสียงข้างมากได้ นพ.สรณจึงต้องกางระเบียบ กสทช.ข้อที่กำหนดให้ประธานบอร์ดสามารถใช้อำนาจออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง เพื่อเป็นการชี้ขาด ทำให้ นพ.สรณใช้สิทธิโหวตได้ 2 ครั้ง กลายเป็นมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมธุรกิจในที่สุด
นอกจากเปิดหวอให้ควบรวมกิจการแล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อกังวล (Point of concern) จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม อาทิ ให้กำหนดเพดานราคาค่าบริการเฉลี่ย ลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ภายใน 90 วันหลังการควบรวม, ต้องนำส่งข้อมูลรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมให้ครบถ้วนทุก 3 เดือน หรือเมื่อร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน ค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย
ตลอดจนจัดให้มีที่ปรึกษาสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้าง ต้นทุนอัตราค่าบริการ โดย กสทช. กำหนด และทรู–ดีแทครับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังกำหนดให้ทรูและดีแทคแยกแบรนด์ให้บริการเป็นเวลา 3 ปี
นอกจากนั้นยังต้องมีแผนสนับสนุนผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) ด้วยการจัดให้มีหน่วยธุรกิจด้าน MVNO เป็นการเฉพาะ โดยต้องเจียดโครงข่ายให้ MVNO ใช้ไม่ต่ำกว่า 20% ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมด ในราคาขายต่ำกว่าราคาขายปลีก 30% และไม่ให้กำหนดเพดานขั้นต่ำในการเข้าซื้อ
รวมทั้งต้องให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 85% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 3 ปี และ 90% ภายใน 5 ปีนับจากวันควบรวมธุรกิจ เป็นต้น
ความเห็น “ศุภัช–พิรงรอง” ทำไม? ต้องค้าน
เพราะคำว่า “ทรยศวิชาชีพตัวเองไม่ได้” ทำให้ “ศุภัช ศุภชลาศัย” กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ “พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ตัดสินใจเป็นกรรมการ กสทช.เสียงข้างน้อย ไม่อนุญาตให้ควบรวบกิจการ “ทรู–ดีแทค” สอดคล้องการแสดงจุดยืน คัดค้านการควบรวบมาตลอดเวลากว่า 6 เดือน นับตั้งแต่รับตำแหน่ง โดย รศ.ดร.ศุภัช แสดงความเห็นคัดค้านเป็นเอกสารหลักฐานระบุว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการมีอำนาจตลาดสูง ส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด
นอกจากนี้ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ อัตราค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะทางเลือกบริการน้อยลง คุณภาพการให้บริการลดลง ผู้ร่วมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีหรือถ้ามีก็ลงทุนล่าช้า และไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ผลตอบแทนต่ำ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มลดลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เพราะขาดความชัดเจนว่ารวมธุรกิจแล้วประชาชนได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด และที่ผ่านมาได้พยายามประเมินผลหลายด้านแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลที่ชัดเจนว่าจะบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้ และการศึกษาและประสบการณ์ในหลายประเทศที่รวมธุรกิจ เหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่าเงื่อนไขหรือมาตรการไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากการผูกขาดได้
“จากเหตุผลข้างต้นและเพื่อมิให้ประเทศต้องเผชิญความเสี่ยง ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการควบรวบกิจการทรู–ดีแทค”
ขณะที่ ศ.ดร.พิรงรอง เปิดเผยความเห็นคัดค้านผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เพราะเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการมือถือ ทั้งในแง่ลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วย 7 เหตุผล ที่สนับสนุนการตัดสินใจคัดค้าน ดังนี้
1.ทำให้ตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly
2.จากการศึกษาของ SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดี อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมด การรวมธุรกิจจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และมีโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น
3.เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะต่างๆที่บังคับการรวมธุรกิจ ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม ขณะที่ กสทช.ไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่
4.เอกสารประกอบการพิจารณาไม่ชัดเจนว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
5.การควบรวมมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันทางการแข่งขัน
6.ตลาดมือถือไทยอยู่ภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงตลาดได้ยาก เช่น กรณีการควบรวมของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์
7.มีโอกาสขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์การขายบริการแบบเหมารวม เพราะ 1 ในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจบริการค้าปลีกและค้าส่งของประเทศ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น.
มะรุมมะตุ้มรุมฟ้องบอร์ด กสทช.
ทันทีที่มติถูกเปิดเผยออกมา การรอคอยที่สิ้นสุดลงของทรูและดีแทค ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความยุ่งเหยิง วุ่นวายและความไม่แน่นอนอีกมากมายที่กำลังคืบคลานเข้ามา
เมื่อบรรดาเหล่าผู้คัดค้านพากันมะรุมมะตุ้ม เริ่มจากเครือข่ายสภาองค์กรผู้บริโภคประกาศฟ้องศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยเร็วที่สุด ไม่ให้การควบรวมเดินหน้าต่อได้ โดยกำลังประสานขอรายงานมติบอร์ดทั้งหมด รวมทั้งบันทึกความเห็นบอร์ดทั้ง 5 คน และยังจะฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควบคู่กันไปด้วย
เช่นเดียวกับ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลจะยื่นเรื่อง ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบ กสทช. เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยจะยื่นร้องสอบบอร์ด กสทช. ทั้ง 5 คน เพราะหากกรรมการประพฤติมิชอบหรือทำผิดขั้นตอนกระบวนการ ก็อาจทำให้การตัดสินครั้งนี้เป็นโมฆะได้ ปลุกกระแสโกรธเกรี้ยวของผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์
นอกเหนือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค นักการเมือง นักวิชาการแล้ว ดูเหมือนว่าคู่แข่งรายสำคัญในธุรกิจ อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่ถูกมองว่าน่าจะสุขสบายดีกับการแข่งขันที่น้อยลง กลับเลือกโดดร่วมข้างคัดค้านการควบรวมในครั้งนี้เช่นกัน
ท่ามกลางความเงียบงันในช่วงแรกๆ ที่การควบรวมกิจการถูกเปิดเผยออกมาในวันที่ 22 พ.ย.2564 ท่าทีของเอไอเอสชัดเจน ตรงไปตรงมา เมื่อตัดสินใจร่อนหนังสือถึงบอร์ด กสทช.คัดค้านการควบรวมกิจการของ 2 คู่แข่ง
ท่าทีของเอไอเอสแข็งกร้าวขึ้น บนเวทีแสดงความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ที่สำนักงาน กสทช.จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค โดยตัวแทนเอไอเอสให้ความเห็นว่าการควบรวมทำให้เกิดการผูกขาด แถมให้เหตุผลแบบ “สุดหล่อ” ว่า แม้จะได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่อยากนิ่งเฉยและเป็นส่วนหนึ่งของการผูกขาดนี้
แม้เหตุผลที่ให้จะเทน้ำหนักไปที่อาการ “ใจหล่อ” แต่เมื่อมองให้ไกล มองให้ลึก โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอไอเอสเพิ่งถูกเปลี่ยนจากกลุ่มทุนสิงคโปร์ในนามเทมาเสกและสิงคโปร์ เทเลคอม เป็นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) อภิมหาทุนยักษ์ใหญ่สายพลังงาน ผู้กว้างขวางและ
มาแรงแห่งทศวรรษ
เอไอเอสสนุกสนานกับการเป็นเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมามากกว่า 20 ปี ฐานะการเงินแข็งแกร่ง กำไรล้น ปันผลมโหฬาร ทิ้งห่างคู่แข่งทั้งทรูและดีแทค เฉพาะกำไรครึ่งแรกของปี 2565 เอไอเอสทำได้ 12,616 ล้านบาท ขณะที่ทรู ขาดทุน 2,378 ล้านบาท และดีแทคกำไร 1,730 ล้านบาท
แม้การควบรวมอาจทำให้การแข่งขันลดน้อยลง แต่จากท่าทีของเอไอเอส สิ่งนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำตลาดอย่างเอไอเอสต้องการ การแข่งขันกับคู่แข่งที่โงนเงนง่อนแง่น น่าจะปลอดภัยมากกว่า
โดยเฉพาะเมื่อทรู มีบริษัทแม่อย่างซีพี เป็น 1 ในผู้แข็งแกร่งแห่งปฐพีเช่นกัน การทำให้ทรูแกร่ง อาจทำให้เอไอเอสเจ็บได้ในอนาคต ผนวกกับดีแทคมีบริษัทแม่อย่างเทเลนอร์ ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก
คู่แข่งซึ่งจะแกร่งขึ้น บริหารต้นทุนได้ดีขึ้นจากการควบรวมกิจการ เป็นสิ่งที่สร้างความเสี่ยงอย่างยิ่งต่ออนาคตเอไอเอส
ต่อข้อถามเรื่องการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการประลองกำลังของ 2 ทุนยักษ์ในประเทศหรือไม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตอบยิ้มๆว่า ตนเป็นนักธุรกิจ ธรรมดาของธุรกิจคือการแสวงหากำไร แสวงหาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เป็นเรื่องปกติ แต่การยอมให้เหลือคู่แข่งในตลาดน้อยลง เป็นการลดทอนการแข่งขันแน่นอน
ฝ่าฟันมาตรการโหด–คดีฟ้องร้อง
ในส่วนของท่าทีในฝั่งของทรูและดีแทค ทั้ง 2 บริษัทกำลังตั้งทีมศึกษามาตรการที่ต้องปฏิบัติโดยละเอียด เบื้องต้นมติบอร์ดที่เผยแพร่ในข่าวประชาสัมพันธ์ที่ส่งให้สื่อมวลชน เมื่อค่ำวันที่ 20 ต.ค.2565 น่าจะสร้างความกังวลใจให้กับทั้ง 2 ค่ายไม่น้อย
ต่อเรื่องนี้ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB ในฐานะนักวิชาการด้านโทรคมนาคมที่เกาะติดประเด็นควบรวมระหว่างทรูและดีแทค บอกว่า ผิดหวังกับมติบอร์ดแต่ไม่ผิดคาด อยากเห็นมาตรการด้านโครงสร้าง เช่น การยึดคืนคลื่น แต่ก็ไม่เห็น กระนั้นมีหลายมาตรการด้านพฤติกรรมที่น่าสนใจ เช่น โครงสร้างการกำหนดราคาตามต้นทุนที่สะท้อนความเป็นจริงมากกว่าเดิม ซึ่งน่าจะนำไปสู่การควบคุมราคาให้ต่ำลงได้จริง ตลอดจนการต้องยื่นรายงานบัญชีแยกประเภท และถูกตรวจสอบโดยบริษัทที่ปรึกษาบุคคลที่ 3 ซึ่งน่าจะสร้างความกังวลแก่ทรูและดีแทค เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ เช่นเดียวกับมาตรการด้าน MVNO ที่กำหนดราคาขายส่งต่ำลงมากและไม่มีเพดานซื้อขั้นต่ำ น่าจะช่วยให้รายเล็กสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ความเสี่ยงด้านกฎหมาย หากศาลปกครองตัดสินคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้กระบวนการควบรวมต้องหยุดชะงักลง แม้เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีซีพีซื้อเทสโก โลตัส ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ร้องศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเช่นกัน แต่ครั้งนั้นศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครอง คดีฟ้องร้องจึงเข้าสู่กระบวนการปกติ แต่การพิจารณาคดีในธุรกิจโทรคมนาคมก็อาจต่างจากคดีธุรกิจค้าปลีก
...อย่างไรก็ตาม สำหรับทรูและดีแทค แม้จะต้องผ่านอีกกี่อุปสรรค ฝ่าอีกกี่ด่าน หากควบรวมสำเร็จ ถือเป็นความเสี่ยงที่คุ้มค่า...
ทีมเศรษฐกิจ