ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้บริษัทโตโยต้า ประเทศไทย จ่ายภาษีกว่าหมื่นล้าน คดีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ชี้ไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากร เพราะสามารถนำไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้ารุ่นพรีอุสได้ทันที เข้าพิกัดชิ้นส่วนที่สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ต้องชำระค่าภาษีอากรขาเข้า 80% ตามการประเมินและคำวินิจฉัยของหน่วยงานรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.ย.2565 องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร สนามหลวง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยวิธีถ่ายทอดภาพและเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังศาลภาษีอากรกลาง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ คดีที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องกรมศุลกากรและกรมสรรพากร เป็นจำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ รวม 10 คดี เรื่องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 คิดเป็นทุนทรัพย์รวม 10,000 ล้านบาทเศษ
โดยบริษัท โตโยต้าฯ โจทก์ ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า ระหว่างปี 2553 ถึง 2555 บริษัทโจทก์นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อนำมาผลิตรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส โดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 และมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และตามความตกลง (JTEPA) โจทก์จึงขอให้ระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่น สำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะที่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีนี้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยบริษัท โตโยต้าฯ โจทก์ ไม่ต้องชำระภาษี แต่จำเลยทั้งสอง ยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับ ให้บริษัท โตโยต้าฯ หรือโจทก์ แพ้คดี โดยจะต้องชำระเงินค่าภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐ บริษัท โตโยต้าฯ โจทก์ ได้ยื่นฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่โจทก์นำเข้า เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส และสามารถนำไปประกอบเป็นรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ได้ทันที จึงต้องจำแนกเข้าประเภทพิกัดของชิ้นส่วนที่สมบูรณ์หรือสำเร็จแล้ว ที่นำเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันหรือยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน ในฐานะที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ประเภทพิกัด 8703.23.41 หรือ 8703.23.51 (ตามช่วงเวลาที่นำเข้า) ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 5 ในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2539 บริษัท โตโยต้าฯ โจทก์ จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรและลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกมา เพื่อให้เป็นไปตามความตกลง JTEPA และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากร ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 (ฉบับที่ 18) ลงวันที่ 13 ต.ค.2553
ทั้งไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากร ในอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 30 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้คิดอัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ส่วนประเด็นอื่นศาลไม่รับวินิจฉัย.