Bangkok Airways ลุยแผนปี 65 เพิ่ม 13 เส้นทางการบิน ดึงนักเดินทางทั่วโลก คาดดันรายได้ขนส่งผู้โดยสารแตะ 8,175 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA คาดการณ์ว่า ทิศทางของอุตสาหกรรมการบินโลกจะกลับมาสู่ภาวะปกติในปี 2567 และการเดินทางในยุโรป อเมริกาเหนือ จะเริ่มฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566
สำหรับการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไตรมาส 1/65 มีการขยายตัวสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการเข้าไทย โดยบางกอกแอร์เวย์ส ได้เพิ่มเที่ยวบินรองรับการเดินทางทั้งนประเทศและระหว่างประเทศรวม 5,037 เที่ยวบิน
โดยไตรมาส 1/65 บริษัท มีจำนวนขนส่งผู้โดยสารกว่า 370,000 คน หรือเติบโต 146% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารเท่ากับ 931 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 208% และปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร หรือ ASK เท่ากับ 336.9 ล้านที่นั่ง-กม. เพิ่มขึ้น 116% เทียบกับไตรมาส 1/64
เตรียมเปิดเส้นทางใหม่
นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า ครึ่งปีหลัง 65 นี้เราได้เพิ่มเส้นทางการบินเพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ 13 เส้นทาง เช่น
1. กรุงเทพฯ -หาดใหญ่, สมุย–หาดใหญ่ เริ่ม 16 ก.ค. 65
2. กรุงเทพฯ – มัลดีฟส์ เริ่ม 22 ก.ค. 65
3. กรุงเทพฯ – เสียมเรียบ เริ่ม 1 ส.ค. 65
4. สมุย – ฮ่องกง เริ่ม 1 ก.ย. 65
ส่วนในไตรมาส 4/65 คาดว่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินในเส้นทาง เชียงใหม่ – กระบี่ เชียงใหม่ – ภูเก็ต สมุย – กระบี่ กรุงเทพฯ – หลวงพระบาง กรุงเทพฯ – ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ – ฟูโกว๊ก
นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือกับสายการบินพันธมิตร ทั้งความร่วมมือในระดับ Codeshare และ Interline เริ่มส่งสัญญาณที่ดีของการกลับมาจากการเปิดประเทศของประเทศไทย และนโยบายการเปิดประเทศของหลายประเทศโดยเฉพาะยุโรปซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญ
โดยสัดส่วนรายได้จากสายการบินพันธมิตรคิดเป็น 18% ของรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารทั้งหมด ทั้งนี้ สายการบินพันธมิตร 3 อันดับแรกที่มียอดรวมรายได้สูงสุด ได้แก่ การ์ตาร์แอร์เวย์ส เอมิเรตส์ และออสเตรียน แอร์ไลน์
"ในปี 65 นี้ต้นทุนสำคัญที่สุด คือ ค่าน้ำมัน แต่เราก็จะบริหารจัดการให้เต็มประสิทธิภาพ โดยคาการณ์ว่าในปีนี้จะมีเที่ยวบินทุกเส้นทางบินรวม 34,000 เที่ยวบิน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร 3,080 ล้านที่นั่ง-กม. และจำนวนผู้โดยสาร 2.64 ล้านคน รายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร อยู่ที่ 8,175 ล้านบาท อัตราขนส่งผู้โดยสาร 73% โดยคาดว่าราคาตั๋วเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 3,100 บาท"
ความคืบหน้าตั้งกอง REIT เข้าลงทุนสิทธิการเช่าอสังหาฯ สนามบินสมุย
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน ในไตรมาส 1/65 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.1% เทียบกับปี 64 โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ธุรกิจสนามบิน และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 826.6 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายรวมที่เพิ่มขึ้น 22.3% โดยเฉพาะส่วนของต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น 34.5% ได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ที่สามารถฟื้นตัวหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง และเปิดประเทศ ได้แก่ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด มีรายได้รวม 80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 190% เทียบจากปี 2564
ส่วนบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด หรือ BFS Ground ผู้ให้บริการด้านผู้โดยสาร ด้านภาคพื้นและด้านคลังสินค้า ณ สนามบินสุวรรณภูมิ มีรายได้รวม 330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% โดยให้บริการเที่ยวบินจำนวน 9,365 เที่ยวบิน
ขณะที่ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด หรือ BFS Cargo ธุรกิจคลังสินค้าระหว่างประเทศมีรายได้รวม 529 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1 เทียบจากปี 2564 เนื่องจากมีการขนส่งสินค้าลดลง 17,709 ตัน โดยมีปริมาณสินค้าที่ขนส่ง 109,547 ตัน
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ ภายใต้โครงการสนามบินสมุย มูลค่าประมาณ 14,500 ล้าน ที่มีบริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ นั้นคาดว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนได้ประมาณกลางปี 65 โดยแผนการะดมทุนดังกล่าวจะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้คืนสถาบันการเงิน และนำเงินไปปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างอาคารให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
"แต่เดิมคนส่วนใหญ่มองว่า Bangkok Airways เป็นสายการบินเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเรามีธุรกิจอื่นๆ ด้วย จากสถานการณ์ของโควิดที่ผ่านมา ทำให้เราต้องพัฒนาธุรกิจสนามบินให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีแนวทางการระดมทุนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจแบ่งกลุ่มกันชัดเจน"
เสริมแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด
นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 65 นี้ เราได้วางแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ
พร้อมจัดแคมเปญกระตุ้นการขายและออกโปรโมชั่นสุดพิเศษตลอดจนถึงสิ้นปี การขยายช่องทางการจำหน่ายบัตรโดยสารให้ครอบคลุมออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อส่งมอบสิทธิประโยชน์สุดพิเศษสำหรับผู้โดยสารในราคาที่คุ้มค่า ขณะเดียวกันยังวางกลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดผ่านแคมเปญ คิดถึง…ให้ถึง โดยมี ญาญ่า อุรัสยา เป็นพรีเซ็นเตอร์ นำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ในการให้บริการที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบฉบับเอเชียบูทีคแอร์ไลน์อีกด้วย