ธุรกิจครอบครัว “เจน 1 สู่เจน 3”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธุรกิจครอบครัว “เจน 1 สู่เจน 3”

Date Time: 15 เม.ย. 2565 06:54 น.

Summary

  • กิจการในประเทศไทยมากกว่า 80% เป็นธุรกิจครอบครัว มีจุดเริ่มต้นในยุคบุกเบิก มีผู้ก่อตั้งบริหารงานเพียงคนเดียว คิดค้นสินค้าหรือบริการ ขยายการลงทุน จนสินค้าติดตลาด เป็นที่นิยมและชื่นชอบ

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

กิจการในประเทศไทยมากกว่า 80% เป็นธุรกิจครอบครัว มีจุดเริ่มต้นในยุคบุกเบิก มีผู้ก่อตั้งบริหารงานเพียงคนเดียว คิดค้นสินค้าหรือบริการ ขยายการลงทุน จนสินค้าติดตลาด เป็นที่นิยมและชื่นชอบของคนในสังคม

เมื่อสินค้าครองส่วนแบ่งการตลาดมากๆ สร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวย นับจุดเริ่มต้นของ “ธุรกิจของตระกูล” ที่มีคนในครอบครัวเข้ามาสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น

แต่สิ่งที่น่าสนใจ มีงานวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้ทำผลสำรวจ พบว่า “อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว” เปลี่ยนผ่านจากเจเนอเรชัน 1 หรือรุ่นบรรพบุรุษ “ปู่-ย่า-ตา-ยาย” ผู้ก่อตั้งธุรกิจ สืบทอดมาสู่ยุคเจเนอเรชัน 2 หรือรุ่น “พ่อ-แม่” มีอัตราความอยู่รอดของธุรกิจเหลือเพียง 30-35%

เมื่อธุรกิจสืบทอดมาถึงรุ่นลูก-รุ่นหลาน หรือเจเนอเรชัน 3 มีอัตราการอยู่รอดไม่ถึง 10%!!!

ต้นเหตุของธุรกิจที่ล้มหายตายจาก มาจากยุคสมัยเปลี่ยนไปวิถีชีวิตผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลง สินค้า และบริการก้าวตามไม่ทัน ล้าหลังหมดสมัย ไม่เป็นที่นิยม สินค้าก็ต้องสูญหายไปจากตลาด อีกตัวแปรที่สำคัญเกิดจากคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือไม่มีทายาทเข้ามาสานต่อธุรกิจ

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ 3 นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ “เจน 3” ต่อมุมมอง แนวคิด ในการนำพา หรือต่อยอดธุรกิจของตระกูล จนประสบความสำเร็จ ดังนี้...

“ชาตรามือ” ยุคดิจิทัล

พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพย์ธารี จำกัด ผู้ให้บริการเครื่องดื่มชาตรามือและผู้ดูแลสาขาร้านชาตรามือ

“พราวนรินทร์” ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว “ชาตรามือ” ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 หรือราว 77 ปีก่อน เล่าว่า การปรับตัวของชาตรามือ เริ่มต้นมาตั้งแต่ราว 15 ปีที่แล้ว แบบค่อยเป็นค่อยไป สมัยก่อนขายแต่ชาแห้ง ชากระป๋องส่งให้กับลูกค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่เวลาไปออกงานแฟร์ งานแสดงสินค้าอาหาร ต้องมีการชงให้ลูกค้าชิมรสชาติบ้าง พอชิมถูกใจ ลูกค้ายุให้เปิดบูธขาย จนเจ้าของพื้นที่-ห้างเริ่มเห็น จึงชักชวนให้เข้าไปเปิดร้าน ช่วงแรกเป็นการออกอีเวนต์ชั่วคราว หรือเปิดเป็นร้านเล็กๆ สาขาแรกๆอยู่ในแผนกซุปเปอร์มาร์เกตของเดอะมอลล์ รวมทั้งสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

พราวนรินทร์ออกตัวว่า การขับเคลื่อนแบรนด์สุดเก๋าอย่างชาตรามือเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น เป็นไอเดียภายในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยบิดา-มารดา-น้องชาย และตัวเธอ การมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดจากลูกค้ายี่ปั๊ว ซาปั๊วไปสู่ผู้บริโภคทั่วไป ทำให้ยอดขายเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักเรื่อยมา แม้จะสะดุดไปบ้างในช่วงโควิด

“เราเริ่มบุกตลาดชาน้ำจริงจังเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เปิดสาขาทั่วประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 126 สาขา และใช้โซเชียลมีเดียในการโฆษณา สินค้าที่สร้างกระแสไวรัล คนต่อคิวซื้อยาวเหยียดคือชากุหลาบที่เปิดตัวช่วงวันวาเลนไทน์ปี 2560 ด้วยถ้วยที่ออกแบบใหม่สีสันสดใสและดูเด็กลง แถมมีคุณสมบัติช่วยขับถ่าย ทำให้ชาตรามือได้ฐานลูกค้าอายุน้อยเพิ่มขึ้นทันที ช่วงต่อมาในปีเดียวกัน การเปิดตัวไอศกรีมชาเย็น ซึ่งเป็นไอศกรีม Soft Serve ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน มีคนรีวิวให้มากมาย ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง”

เมื่อถามถึงความท้าทายในการขับเคลื่อนแบรนด์เก่าแก่อย่างชาตรามือให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ พราวนรินทร์อธิบายว่า เป็นเรื่องของการหาความสมดุลระหว่างความคลาสสิกที่ไร้กาลเวลาซึ่งเป็นจุดแข็งของชาตรามือกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ ความท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้แบรนด์ดีขึ้นเรื่อยๆ “สำหรับแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยมีภาพจำเดิม ทำได้ง่ายกว่ามาก แต่แบรนด์ดั้งเดิมที่มีภาพจำอยู่แล้ว อาจต้องพยายามหามุมมองใหม่ ที่ดีกว่าเดิม นี่คือความท้าทาย”

ส่วนเป้าหมายธุรกิจในระยะต่อไปว่า อยากนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริการมากขึ้น นอกเหนือจากการทำดีลิเวอรีแล้ว มองไปถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้รู้จักลูกค้ามากขึ้น จะได้ทำโปรโมชันได้เข้าถึง ตรงใจ และสะดวก ซึ่งตรงนี้การมีฐานข้อมูลลูกค้าจะช่วยให้วิเคราะห์ได้แม่นยำ

“แป้งศรีจันทร์” สู่แบรนด์ระดับโลก

รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้พลิกโฉมผงหอม “ศรีจันทร์” สู่แบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก

หลังจากใช้เวลามากว่า 10 ปี ถึงวันนี้เชื่อว่าคงไม่มีใครสงสัยในการเข้ามาต่อยอดความสำเร็จ รีแบรนด์เครื่องสำอาง SRICHAND “ศรีจันทร์” สู่ แบรนด์ Sasi “ศศิ” ซึ่งพลิกโฉม “แป้งศรีจันทร์” ที่เคยเป็นที่นิยมของคนรุ่นหนึ่ง สู่ความนิยมของคนทุกกลุ่มในไทย เอเชีย และกำลังก้าวสู่ระดับโลก และคุณเองหรือคนข้างเคียงก็น่าจะมีผลิตภัณฑ์ของ “ศรีจันทร์” ติดอยู่ในกระเป๋า หรือโต๊ะเครื่องแป้ง อย่างน้อยหนึ่งอย่างเช่นกัน

โดยในวันที่ “รวิศ” เข้ามาบริหารงาน เขาเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่มองไว้อย่างแรกคือ “แค่อยากให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเท่านั้น” และสิ่งที่ทำต่อจากนั้น คือ การศึกษา ทดลอง และทำการบ้านอย่างหนัก

ที่ผ่านมา อย่างแรกที่เราทำมากที่สุดคือ การปรับปรุงระบบภายในให้ทันสมัยขึ้น ทำแบรนดิ้ง เพื่อปรับภาพลักษณ์บริษัทและตัวผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นคือ การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว และการเพิ่มประเภทสินค้าใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์เครื่องสำอางในปัจจุบัน เน้นคุณภาพที่ดีที่สุด ครอบคลุมตลาดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

“การเข้ามาบริหารงานและต่อยอดธุรกิจที่มีพื้นฐานและผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือ เรามีพื้นฐานที่ดีที่จะต่อยอดได้ ในขณะที่ข้อเสียคือ เราจะต้อง “เปลี่ยน” ให้ถูกต้อง ดูให้ดีว่า อะไรคือสิ่งที่ดีอยู่แล้วนำไปพัฒนาได้ และสิ่งไหนเป็นสิ่งเราต้องเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ในการทำธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีคนหลายรุ่น มีประสบการณ์ ในการทำงานมายาวนาน การทำงานกับครอบครัว และการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน”

ในมิติของคนทำงาน เวลาที่เราจะเสนออะไร เหมือนเราคุยกับผู้ลงทุน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีความสัมพันธ์ของความเป็นครอบครัว เป็นพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ดังนั้น ในการจะเสนอเปลี่ยนแปลงอะไร เราต้อง “เปลี่ยน” ในสิ่งที่มีแนวโน้มที่จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด หากเป็นการเปลี่ยนที่ขัดกับ “ของเก่า” ทำอย่างไรให้เห็นแนวโน้ม เราจะต้องมีการศึกษา และทำการทดลองเล็กๆมายืนยัน เพื่อสร้างความ “สบายใจ” ให้กับคนทุกฝ่าย

สำหรับคนที่มีธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว อยากสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือต่อยอดธุรกิจที่บ้าน ง่ายที่สุดที่ต้องทำคือ หาให้ได้ว่า “สิ่งที่ทำอยู่มีส่วนไหนที่ควรจะต้องเก็บไว้ สิ่งไหนควรต้องปรับปรุง และสิ่งไหนต้องเลิกไป” ซึ่งต้องทำการบ้านเยอะๆว่าเราจะเก็บอะไรไว้ เพราะอะไร เพราะบางครั้งหากเราเปลี่ยนผิดไปเก็บสิ่งที่ผิดก็อาจจะแย่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ คุยกับลูกค้าเยอะๆ หาจุดที่ลูกค้าต้องการแล้วเปลี่ยน ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ศรีจันทร์” ทำมาตลอดเช่นกัน

วันนี้ “ศรีจันทร์” จะยังโฟกัสอยู่ที่ธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งเราจะต่อยอดการเปิดตลาดในต่างประเทศ จากที่ได้ขายดีในตลาดญี่ปุ่น ไปสู่ตลาดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนบ้านเรา และตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งให้ความสนใจในสินค้าของเรา ซึ่งเน้นคุณภาพที่ดีและราคาสมเหตุสมผล

“เมกาเชฟ” ยกระดับน้ำปลา

ภาส นิธิปิติกาญจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สินวารี พัฒนาจำกัด เจ้าของโรงงานน้ำปลาภายใต้แบรนด์ เมกาเชฟ (Megachef) น้ำปลาระดับพรีเมียม ทายาทรุ่นที่ 3 โรงงานน้ำปลาตราปลาหมึก ที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 70 ปี

“ภาส” เล่าว่า ที่มาของการสร้างโรงงานน้ำปลา และการสร้างแบรนด์ใหม่ ถือเป็นความท้าทาย แต่เป็นการทำตามความฝันของตัวเอง ที่ต้องการผลักดันให้ซอสอาหารไทยหรือเครื่องปรุงรส เสิร์ฟคู่กับซอสมะเขือเทศ ซอสพริก และซอสอื่นๆบนโต๊ะอาหารทั่วโลก ไม่เฉพาะร้านอาหารไทยเท่านั้น

จึงเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ “เมกาเชฟ” ระดับพรีเมียมยกระดับราคาขึ้นมา แพงกว่าราคาน้ำปลาในท้องตลาด และเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคใส่ใจรักสุขภาพ และที่มาของคำว่า “เมกาเชฟ” มาจากคำยอดฮิตคือ “เมกะโปรเจกต์” กับคำว่า “เชฟ” คือผู้เชี่ยวชาญเมนูอาหาร เมื่อนำมารวมกัน จึงเป็น “เมกาเชฟ”

เมื่อตกผลึกความคิดแล้ว จึงไปปรึกษาหารือกับครอบครัว คุณพ่อ คุณอา เพื่อขอแยกตัวจากธุรกิจครอบครัว โรงงานน้ำปลาตราปลาหมึก ไปสร้างโรงงานน้ำปลาของตัวเอง ที่จังหวัดจันทบุรี ใกล้แหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญ ปลาสดๆคัดคุณภาพ ตามคุณสมบัติน้ำปลาเมกาเชฟ

โดยช่วง 3 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ตั้งแต่สร้างโรงงาน คัดเลือกวัตถุดิบ สูตรการหมัก ลงมือทำเอง เพราะน้ำปลาต้องใช้เวลาหมัก ช่วงแรกไม่มีรายได้ ก็ไม่ท้อถอย เพราะมีความมุ่งมั่น หลังจากนั้นช่วงปีที่ 4 ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายในประเทศไทย จากนั้นจึงขยายการส่งออกไปต่างประเทศจนมาถึงทุกวันนี้

“นับจากวันที่แยกจากธุรกิจครอบครัว มาสร้างโรงงานน้ำปลาของตัวเอง เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ยอมรับช่วงแรกยากที่สุด นอกจากจะคุยกับครอบครัวเพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังจะทำ และต้องต่อสู้กับแนวความคิดของผู้บริโภค น้ำปลาเมกาเชฟ ไม่ใช่เฉพาะน้ำปลา แต่จะเป็นซอสปรุงรส”

ภาสเล่าอีกว่า ธุรกิจที่ทำ หลายคนมองว่ามีลักษณะคล้ายคู่แข่งของครอบครัว แต่โดยส่วนตัวไม่ใช่คู่แข่งน้ำปลาตราปลาหมึก แต่เป็นน้ำปลาระดับพรีเมียม เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ยอมจ่ายเงิน เพื่อสุขภาพเพื่อความกลมกล่อมในรสชาติอาหาร ไม่ได้คำนึงถึงความเค็มเพียง
อย่างเดียว และต้องการยกระดับสินค้าไทย ไม่ใช่มีแต่ของราคาถูกเพียงเท่านั้น

เวลาไปต่างประเทศ หลายคนมองว่า ซอสไทย น้ำปลาไทย ทำไมมีแต่ของถูก เพราะของถูกไม่ใช่ของไม่ดี ของดีทั้งนั้น จึงเป็นแนวคิด เป็นไอเดีย เมื่อเรียนจบจากต่างประเทศกลับมาก็มาศึกษานำประสบการณ์ต่างๆที่สั่งสมมาจากการทำงานในร้านอาหาร ทำงานกับครอบครัว มาปรับปรุงมาพัฒนา เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเองในวันนี้.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ