“ซีอาร์จี” วางยุทธศาสตร์เติบโตแข็งแกร่ง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ซีอาร์จี” วางยุทธศาสตร์เติบโตแข็งแกร่ง

Date Time: 26 มี.ค. 2565 05:13 น.

Summary

  • จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถต้านทานกับการขาดทุนได้จำต้องปิดกิจการไป บางรายเป็นถึงขั้นเชนร้านอาหาร Quick Service Restaurant ประกาศหยุดกิจการในประเทศไทย

Latest

Medical District ดันที่ดินย่านศิริราชมีมูลค่า แต่พื้นที่พัฒนาอสังหาฯ มีจำกัด

ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหลายระลอกจากสถาน การณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด–19 ดังที่ทราบกันดีทั้งการปิดร้าน ห้ามรับประทานในร้าน ซื้อกลับไปบ้าน ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก–รายใหญ่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด

ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถต้านทานกับการขาดทุนได้จำต้องปิดกิจการไป บางรายเป็นถึงขั้นเชนร้านอาหาร Quick Service Restaurant ประกาศหยุดกิจการในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์นี้

แต่ก็มีไม่น้อยที่สามารถยืนหยัดต่อสู้เอาตัวรอดได้ อย่างบริษัทเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี” หนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหาร “มัลติแบรนด์” แบรนด์ธุรกิจอาหารบริการด่วนถึง 1,380 จุดและสาขา ที่เพิ่งแถลงความสำเร็จในการฝ่าวิกฤติที่

ผ่านมาได้ เรามาดูกันว่าการทุ่มสรรพกำลังพลิกกลยุทธ์ หาโมเดลธุรกิจ บริการใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคตเป็นอย่างไรกันบ้าง

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์จี กล่าวว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา หลายๆธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเป็นอย่างมากโดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งบริษัทเองทำงานอย่างหนักได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจและการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นและประคองตัวมาได้

ในปีที่ผ่านมา ซีอาร์จีสามารถฝ่าวิกฤติทำรายได้รวม 9,370 ล้านบาท ผ่าน 17 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, โคล สโตน ครีมเมอรี่, ไทยเทอเรส, โยชิโนยะ,โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, อร่อยดี, เกาลูน, สลัดแฟคทอรี่, บราวน์, อาริกาโตะ และส้มตำนัว โดยวางกลยุทธ์ธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบ “New S Curve” ด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1.การขยายสาขาและสร้างอีโคซิสเต็มรองรับการเติบโต ได้ขยายร้านใหม่กว่า 200 สาขา ผ่านทำเลใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ โดยการขยายสาขาได้มุ่งไปในพื้นที่ศูนย์การค้า และทำเลนอกห้าง ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันเป็นต้น เพื่อผลักดันการเติบโต อาทิ เคเอฟซี ปัจจุบันมีกว่า 800 สาขา

2.ปรับโมเดลร้านแบบใหม่ การสร้างซีนเนอร์ยีแบรนด์ในเครือมาอยู่ในร้านเดียว พร้อมกับกรณีศึกษาแบรนด์ “มิสเตอร์ โดนัท” ที่มีการปรับตัวหลายด้าน เช่น ผนึกเครื่องดื่มอาริกาโตะให้บริการลูกค้า การเปิดร้านสแตนอะโลน ขยายสาขาเจาะสถานีบริการน้ำมัน รวมไปถึงร้านรูปแบบใหม่ ได้แก่ คอนเทนเนอร์ สโตร์ (Container store) ซึ่งเพิ่มโอกาสเติบโตได้อย่างมาก

3.บริการดีลิเวอรีและขยายคลาวด์คิทเช่น ในปีที่ผ่านมาช่องทางดีลิเวอรีสร้างยอดขายสูงถึง 3,000 ล้านบาท เติบโตถึง 40% ในปีนี้ยังคงให้ความสำคัญตั้งเป้ายอดขายเพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 15% ขณะที่คลาวด์คิทเช่น หรือครัวกลาง ปัจจุบันมี 11 สาขาในกรุงเทพฯและเชียงใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 20 สาขา

4.การหาพันธมิตร จะมุ่งเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรร้านอาหาร 2 มิติ ได้แก่ การซื้อและควบรวมกิจการ รวมถึงการร่วมทุน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาเป็นพันธมิตร ด้วยความเข็มแข็งของซีอาร์จีในทุกๆด้าน ทั้งบุคลากร การเงิน อีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่งจะช่วยผลักดันให้เติบโตไปพร้อมๆกัน ขณะที่แบรนด์ของซีอาร์จีเองจะขยายแฟรนไชส์ไปยังผู้สนใจที่ต้องการทำธุรกิจเองก็สามารถดำเนินการได้

นายณัฐกล่าวว่า การผ่านวิกฤติที่ผ่านมาได้ ทางซีอาร์จีจึงได้วางยุทธศาสตร์ “GREATER WE : ซีอาร์จีจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม” ขับเคลื่อนธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมกับตั้งเป้าทำรายได้ไว้ 12,100 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 30%

สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารโดยรวมปีที่ผ่านมา ตลาดมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ติดลบกว่า 10% ขณะที่ปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้นเป็นสัญญาณบวกให้กับธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่มีอยู่ โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการรักษาความสะอาดและการตรวจคัดกรองโรค แต่ท้ายที่สุดการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นความจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตต่อไปอย่างแข็งแกร่งได้.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ