เปิด 4 วิสัยทัศน์ “ดีพร้อม แคร์” ลั่นกลองรบนำทัพ “เอสเอ็มอี” ฝ่าวิกฤติปเสือไฟ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิด 4 วิสัยทัศน์ “ดีพร้อม แคร์” ลั่นกลองรบนำทัพ “เอสเอ็มอี” ฝ่าวิกฤติปเสือไฟ

Date Time: 27 ม.ค. 2565 07:12 น.

Summary

  • “ดีพร้อม” ประกาศ 4 ยุทธศาสตร์ ปี 65 ช่วยเหลืเอสเอ็มอีรายเดิมหนีตาย–แจ้งเกิดเอสเอ็มอีมือใหม่ให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน ผ่านนโยบาย “DIProm CARE : ดีพร้อม แคร์”

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

“ดีพร้อม” ประกาศ 4 ยุทธศาสตร์ ปี 65 ช่วยเหลืเอสเอ็มอีรายเดิมหนีตาย-แจ้งเกิดเอสเอ็มอีมือใหม่ให้เกิดการลงทุนที่ยั่งยืน ผ่านนโยบาย “DIProm CARE : ดีพร้อม แคร์” เน้นตรงประเด็น-เข้าถึง-เปลี่ยนแปลง-พันธมิตร พร้อมร่วมมือกับต่างประเทศ แสวงหาตลาดส่งออก ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากร ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม 16,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7,000 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในปี 2565 ว่า จะจัดทำมาตรการเพื่อเร่งฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการ หลังจากที่ได้ส่งทีมงานออกไปสำรวจปัญหา ความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยน การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกๆด้าน ภายใต้นโยบาย “DIProm CARE : ดีพร้อม แคร์” ประกอบด้วย

“ดีพร้อม แคร์” โอสถทิพย์ฝ่าโควิด-19

1.Customization (ตรงประเด็น) คือการวิเคราะห์ผลกระทบ ความเสี่ยง หรือปัจจัยโดยรวมที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการ เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง โดยจะนำศาสตร์ Shindan (ซินดัง) ซึ่งเป็นศาสตร์การวินิจฉัยจากประเทศญี่ปุ่น มาช่วยในการเจาะลึกต้นตอของปัญหาธุรกิจ และช่วยออกแบบเครื่องมือ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับของสถานประกอบการ ในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามบริบทที่แท้จริง

2. Accessibility (การเข้าถึง) เนื่องด้วยการกระจุกตัวของหน่วยงาน ด้านความช่วยเหลือภาคธุรกิจ และการสนับสนุนโครงการต่างๆที่ยังคงอยู่ในส่วนกลาง ตลอดจนการเริ่มกระจายตัวของผู้ประกอบการที่ขยายไปสู่ระดับ ภูมิภาคมากขึ้น ดีพร้อมจึงได้ขยายช่องทางการเข้าถึง ทั้งที่เป็นเครื่องมือ บุคลากรในการให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการและศูนย์การส่งเสริมไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจสามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้อย่างเท่าเทียม โดยมีตัวอย่างเช่น Diprom E-service หรือการนำระบบออนไลน์มาให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในเรื่องการส่งเสริมความรู้ การให้คำปรึกษาทางไกล การจัดมหกรรมในด้านธุรกิจที่จะขยายไปสู่ระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่องแจ้งเกิดเอสเอ็มอีมือใหม่เต็มพิกัด

3.Reformation (การเปลี่ยนแปลง) เนื่องด้วยการดำเนินธุรกิจใน ยุคชีวิตวิถีใหม่ที่ส่งผลให้การประกอบธุรกิจ ต้องตระหนักและมีการปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัญหาที่พบเจอสำคัญๆมีอาทิ เทคโนโลยีที่ต้องมีการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับแต่ละตลาด รวมถึงความสามารถของแรงงานในแต่ละภูมิภาคที่กลับคืนถิ่น จึงจะต้องปฏิรูปกลไกการทำในภาพรวม
ของทุกโครงการ และการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งของดีพร้อม จะต้องมีการเพิ่มบทบาทของศูนย์ส่งเสริม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการได้อย่างครบวงจร

4. Engagement (เครือข่ายและพันธมิตร) ที่จะเป็นการอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม, โอทอป, เอสเอ็มอีมือใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาว วัยเพิ่งเริ่มทำงานที่ต้องการทำงานอิสระ หรือผู้สูงวัยที่เกษียณที่ต้องการแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆให้กับตัวเอง หรือกำลังจะเริ่มลงทุนกิจการให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นในรูปแบบแลกเปลี่ยน ความรู้ระหว่างหน่วยงานเครือข่าย การเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านรูปแบบการจับคู่ธุรกิจ การทดสอบตลาด อีกทั้งยังได้ดึงความร่วมมือจากนานาชาติ มาร่วมพัฒนา เช่น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) รวมถึงมีแผนขยายความสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไปประเทศอื่นๆ อาทิ จีน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เพื่อให้ผลผลิตผลิตภัณฑ์ของไทยมีโอกาสก้าวสู่ตลาดโลก

ร่วมมือพันธมิตรต่างประเทศ

ในปีนี้ ดีพร้อมจะเน้นขยายความร่วมมือกับต่างประเทศที่เป็นพันธมิตร อาทิ ประเทศจีนที่ผู้ประกอบการในเครือข่ายของดีพร้อมจำนวนมากที่มีผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจีน โดยจะได้จัดให้มีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านอีคอมเมิร์ซให้กับเอสเอ็มอี สามารถเชื่อมโยงกับตลาดผู้บริโภคในหลายๆมณฑลของจีน รวมทั้งมีนโยบายที่จะจัดกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) ของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศให้มากขึ้นผ่านทางระบบออนไลน์

ขณะเดียวกัน ก็มีงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ซึ่งจะต้องแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสเข้าถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ร่วมกับผู้ประกอบการฝรั่งเศส ผ่านการเข้าร่วมประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจไทยกับฝรั่งเศส (HLED) โดยในปีที่ผ่านมา ก็ได้ร่วมมือกับ HLED ในเรื่องความร่วมมือในอุตสาหกรรมแฟชั่นและการออกแบบ เป็นต้น

ล่าสุด ดีพร้อมได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับ องค์กรด้านการพัฒนาเอสเอ็มอีของเกาหลีใต้ อาทิ Small and Medium Business Admini stration of the Republic of Korea (SMBA) และ The Korea Productivity Center (KPC) เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ว่าควรจะมีกิจกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศอย่างไรในวิกฤติโควิด-19 ขณะนี้ “ปีงบประมาณ 2565 ดีพร้อมจะดำเนินงานช่วยเหลือสนับสนุนเอสเอ็มอี ภายใต้แผนงานทั้งหมดนี้ ในวงเงินรวม 527 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อย กว่า 16,000 ราย คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ