ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ รวมพลังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามฝ่าพิษโควิด

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ รวมพลังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามฝ่าพิษโควิด

Date Time: 7 ต.ค. 2564 07:01 น.

Summary

  • “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” แปลงโฉม “คลังสินค้า” จัดตั้งโรงพยาบาลสนามมาตรฐานระดับภูมิภาค รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองจนถึงสีส้ม เพื่อบำเพ็ญประโยชน์เพื่อรำลึกถึงพ่อหลวงของแผ่นดิน

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

“ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” แปลงโฉม “คลังสินค้า” จัดตั้งโรงพยาบาลสนามมาตรฐานระดับภูมิภาค รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองจนถึงสีส้ม เพื่อบำเพ็ญประโยชน์เพื่อรำลึกถึงพ่อหลวงของแผ่นดิน และสืบสานพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 ระดมแพทย์ พยาบาล เครื่องมือทางการแพทย์ เปิดบริการตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า โควิด-19 ที่ยาวนานมาเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจ สังคม และปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และมีผู้ป่วยในระดับวิกฤติอยู่ในโรงพยาบาลหลัก จำนวนมาก ซีพีในฐานะบริษัทเอกชนไทยที่ทำธุรกิจบนผืนแผ่นดินไทยมาหนึ่งศตวรรษ ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร มีความสำนึกและกตัญญูพ่อหลวงของแผ่นดิน และเพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่านที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงเพื่อสืบสานพระราชปณิธานจิตอาสาของในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงขอบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยการสร้างโรงพยาบาลสนามช่วยรักษาพี่น้องลูกพ่อหลวงของแผ่นดินที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้หายป่วยและมีสุขภาพแข็งแรงกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ สร้างโรงพยาบาลสนาม “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” ขึ้นที่คลังสินค้า โครงการดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม. 4) จังหวัดสมุทรปราการ โดยเครือซีพีได้ระดมสรรพกำลังสร้างโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 30 วัน มีศักยภาพรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีส้ม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาล หลัก เพราะมีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบเพื่อทำการ รักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

“ซีพียังดำเนินการอีก 3 โครงการ คือ โรงพยาบาลสนามเลิดสิน-กรมการแพทย์ซีพี-พฤกษา บนถนนสีลม ตรงข้ามโรงพยาบาลเลิดสิน โดยจุดนี้เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-แดง และอีกแห่งคือศูนย์พักคอยซีพี-รามคำแหง-นพรัตน์ราชธานี รองรับผู้ป่วยสีเขียวและเหลืองอ่อน รวมทั้งมีโครงการปันปลูกฟ้าทะลายโจร บนที่ดิน 100 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี ผลิตยาฟ้าทะลายโจร 30 ล้านแคปซูลแจกฟรี”

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลสนาม “ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชน ในการช่วยเหลือสังคม โดยดับบลิวเอชเอได้มอบพื้นที่คลังสินค้า ขนาดเนื้อที่ 15,294 ตารางเมตร เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนามโดยไม่คิดค่าเช่าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยและประชาชน เนื่องจากโรงพยาบาลสนามเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับต่อสู้วิกฤติโควิด-19 ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาให้หายเร็วที่สุด โดยได้ปรับพื้นที่อาคารคลังสินค้าของดับบลิวเอชเอเป็นโรงพยาบาลสนามที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก อีกทั้งที่ตั้งโรงพยาบาลสนามนี้ มีการคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย เพราะไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชุมชน รวมทั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่รับผิดชอบดูแลด้านสาธารณสุข โดยโรงพยาบาล แห่งนี้ เป็นแห่งที่สองในพื้นที่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากเปิดโรงพยาบาลสนามสมุทรปราการรวมใจ 5 (WHA) เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

นายแพทย์กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กล่าวว่า ในจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง มีผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีส้มและสีแดง จำนวนมากที่ไม่มีเตียงรองรับ กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ซึ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ และมีโรงพยาบาลสาขาในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออกที่เป็นด่านหน้าสู้กับโควิด-19 จึงเต็มใจและพร้อมเต็มที่ในการร่วมมือกับเครือซีพี และดับบลิวเอชเอ สร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมา เพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหลัก

“ขอการันตีว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ มีระบบการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และมีระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก เพราะจัดเตรียมทีมอายุรแพทย์ 15 คน พยาบาลและทีมสหวิชาชีพ 50 คน รวมทั้งห้องยาและเวชภัณฑ์ ห้องแล็บ ห้องเอกซเรย์ พร้อมทีมสนับสนุนดูแลผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง”

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาใช้ อาทิ 1.ติดตั้งท่อระบบระบายอากาศที่หัวเตียงผู้ป่วยเพื่อดูดไอระเหย ช่วยระบายอากาศได้สะดวกในครั้งเดียว และมีการฆ่าเชื้อด้วยยูวีอีกครั้ง ป้องกันการแพร่เชื้อโควิดในพื้นที่ 2.วางระบบอากาศภายในโซนดูแลผู้ป่วยในระบบ Negative pressure เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่บริเวณอื่น 3.ติดตั้งระบบท่อกรองน้ำ RO สำหรับอุปกรณ์การแพทย์ และผู้ป่วย 4.ติดตั้งระบบก๊าซทางการแพทย์ ออกซิเจนในทุกเตียง 5.ติดตั้งเครื่องให้ออกซิเจนด้วยอัตราการไหลสูง (High Flow O2 FLO) และเครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ เป็นต้น

ดังนั้น จึงพร้อมเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-สีส้มภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยโรงพยาบาลจุฬารัตน์ทั้ง 14 แห่งจะเป็นผู้คัดกรองผู้ป่วยส่งต่อมารับการรักษา ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการรับการรักษา ติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 09-5486-4979, 08-5911-0524 และ 08-5911-8353.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ