ไทยร่วมทุนพลังงานอนาคต

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยร่วมทุนพลังงานอนาคต

Date Time: 27 ก.ย. 2564 05:27 น.

Summary

  • ความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเศรษฐกิจจากนี้ไป เป็นเรื่องที่ต้องจับตามากที่สุดเพราะถือว่าเป็นการปรับตัวของ ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มาเร็วกว่าที่คาดคิดเอาไว้

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและเศรษฐกิจจากนี้ไป เป็นเรื่องที่ต้องจับตามากที่สุดเพราะถือว่าเป็นการปรับตัวของ ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มาเร็วกว่าที่คาดคิดเอาไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย ที่จะทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกอนาคต

เมื่อไม่กี่วันมานี้ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ได้ลงนามความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง ปตท. กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ เพื่อสร้างฐานการผลิตและพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย ที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลมากขึ้น

ประเทศในยุโรป สหรัฐฯ มีนโยบายที่จะใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบใน 4-5 ปีนี้ บริษัทรถยนต์ในอเมริกา ยุโรป หรือในญี่ปุ่น หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ที่อินโดนีเซีย ประเทศไทย ให้ความสำคัญกับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นโดยจะเห็นสถานีเติมพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ในสถานีน้ำมันหลายพื้นที่แล้ว

ผู้บริหาร ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กับ ยัง ลวือ ผู้บริหาร ฟ็อกซ์คอนน์ รวมทั้ง ศ.ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานบอร์ด ปตท. นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมผู้บริหารระดับสูงเห็นตรงกันว่า จะเป็นการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ และจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV Value Chain กำลังเป็นแผนธุรกิจแนวใหม่ เป็นที่สนใจของ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน แม้ว่าการลงทุนในขั้นแรกเริ่มจะต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ สร้างโรงงานผลิต ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรม การวางระบบการผลิต ที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุน 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ การพลิกโฉมภาคการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยรวมที่เบื้องต้นใช้เวลา 2-3 ปี ในการเตรียมพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด ตามเป้าหมายการผลิตที่ 50,000 คันต่อปีและขยายเป็น 150,000 คันต่อปีในอนาคต ถือว่าเป็นการคุ้มค่าในการลงทุนอย่างมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับ

และด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศ สร้างงานภาคแรงงาน เสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับคนไทยอีกจำนวนมาก ตามเป้าหมายของภาครัฐที่จะยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุหลักการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน เริ่มมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ภายใต้ชื่อ บริษัท อรุณ พลัส ที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นการนำร่องธุรกิจในอนาคตยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพลังงานในอนาคต ที่จะเป็นการยกระดับอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยยุค 4.0.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ