วันประวัติศาสตร์สำหรับการฉีดวัคซีนวาระแห่งชาติ ดีเดย์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการประกาศถึงการเริ่มต้นสร้างจะนำไปสู่การเปิดประเทศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และให้ชาวบ้านกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ
หลายๆ ฝ่ายโดยเฉพาะภาคเอกชนได้ขานรับและมองกันว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจจะกลับตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ก็เป็นได้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์เดิมว่าจะเป็นช่วงปีหน้า แต่จะต้องมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีน รวมไปถึงการป้องกันการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงานที่ยังเป็นปัญหาสำคัญให้ได้
วันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการธุรกิจงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งที่ประสบกับผลกระทบของการแพร่ระบาดมาอย่างต่อเนื่องได้มีข้อเสนอหนึ่งถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนของประเทศอย่างน่าสนใจ ผ่านธุรกิจงานแสดงสินค้า ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจ Mice ซึ่งการจัดแสดงสินค้านานาชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
นายประวิชย์ ศรีบัณฑิตมงคล นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) กล่าวว่า กำลังจัดทำหนังสือส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เสนอแนว ทางการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน หากมีโอกาส จะขอเข้าพบเพื่อนำเสนอแผนงานที่ทางสมาคมได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง กิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้าจะเป็นช่องทางฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะเวลาสั้นๆ
“ทางสมาคมได้ขอเสนอให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าประมาณ 10-15 งาน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด เพื่อจัดงานแสดงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ สินค้าอุปโภคบริโภคในราคาพิเศษจากโรงงานผู้ผลิตสินค้า รวมทั้งธุรกิจสตาร์ตอัพที่จะนำแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาช่วยทางผู้ประกอบการที่ไม่สามารถใช้ช่องทางปกติได้ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน”
นายประวิชย์กล่าวว่า การจัดงานนี้มองในภาพรวมห่วงโซ่ธุรกิจจะกลับมาเดินหน้า ประชาชนได้จับจ่ายซื้อของในราคาประหยัดที่โรงงานผู้ผลิต ธุรกิจจำหน่ายสินค้าสามารถขายได้ ทำให้โรงงานผู้ผลิตมีสภาพคล่องเพื่อการดำเนินธุรกิจและเกิดการจ้างงาน ส่วนธุรกิจงานแสดงสินค้าเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรม ศูนย์แสดงสินค้า ผู้จัดงาน ผู้ให้บริการก่อสร้าง และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ยังรวมถึงงานบริการอื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่บริการนักท่องเที่ยว และอื่นๆ จะได้รับอานิสงส์เป็นหวงโซ่เศรษฐกิจ
จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นจากที่ภาครัฐจัดสรรงบนับสิบเท่าหรือ 10,000 ล้านบาท
ขณะที่ทางรัฐจะได้เงินภาษีกลับคืนมาทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการจัดงานแสดงสินค้าทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้บุคคล
สำหรับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า ทั้งแบบธุรกิจ (B2B) และแบบการจำหน่ายสินค้าขายปลีก (B2C) ในปีที่ผ่านมามูลค่าลดลงเหลือเพียง 30,000 ล้านบาท จากก่อนการแพร่ระบาดในปี 2562 มีมูลค่า 100,000 ล้านบาท และการแพร่ระบาดในระลอก 3 คาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น
“การเสนอมาตรการดังกล่าวนี้สามารถดำเนินการได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หากรัฐบาลให้ความเห็นชอบ ทางสมาคมจะรีบประสานงานกับทางหน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงภาคเอกชนด้วยกันเองเพื่อรีบเตรียมการต่อไป”
นอกจากนี้ยังขอให้ทางนายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรในธุรกิจงานแสดงสินค้าและธุรกิจ Mice ที่มีความจำเป็นประมาณ 10,000-20,000 คน จากตัวเลขทั้งระบบประมาณ 25,000-30,000 คน เพื่อเตรียมความพร้อมกลับมาจัดงานแสดงสินค้าได้อย่างปลอดภัย ทั้งผู้จัดงาน ผู้ออกงาน ผู้เข้าชมงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องต่างๆสำหรับการจัดงานที่ได้วางเป้าอาจจะเป็นช่วงปลายไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ พร้อมกับการเตรียมเปิดรับให้นักธุรกิจต่างชาติเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัวภายใต้มาตรการของรัฐ
นี่เป็นข้อเสนอของสมาคมการแสดงสินค้าไทยที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม วัคซีนวาระแห่งชาติ แม้จะผลต่อการสร้างความมั่นใจของคนไทย เราต้องมองในฝั่งของชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาด้วยว่าจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้หรือไม่
จะเป็นสิ่งที่ชี้ชัดได้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเท่าใด!
วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th