2 เจ้าหนี้การบินไทยยื่นค้าน “แผนฟื้นฟูการบินไทย” ด้านศาลล้มละลายกลางรับคำร้อง พร้อมเปิดโอกาสเจ้าหนี้ 2 รายที่คัดค้านและผู้ทำแผน ชี้แจงเพิ่มเติม เลื่อนฟังคำสั่งเป็น 15 มิ.ย.64 ด้าน “ชาญศิลป์” รักษาการดีดีบินไทย ยอมรับไม่หนักใจแม้ว่าจะมีเจ้าหนี้รายย่อย 2 รายคัดค้าน หากเข้ากระบวนการฟื้นฟูมั่นใจออกจากแผนก่อน 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 64 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) และที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตามมาตรา 90/46 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ยอมรับแผน โดยมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกัน 91.56% ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและร่วมออกเสียงลงมติได้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการจำนวน 3 ฉบับ ที่ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้จำนวน 2 รายเสนอ
ดังนั้น ศาลล้มละลายกลางจึงได้นัดพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย โดยมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการและศาลรับไว้ จำนวน 2 ฉบับ ศาลล้มละลายกลางเห็นสมควรให้งดสืบพยานและให้โอกาสผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดและกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 15 มิถุนายน 64
ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนก็จะมีผลทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้ โดยการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผน การจัดการกระแสเงินสดและทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ
อีกทั้งคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจะมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัท และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับเจ้าหนี้การบินไทย 2 รายที่คัดค้านแผนนั้น เป็นเจ้าหนี้รายย่อย แต่ศาลก็อยากให้ชี้แจงก่อน โดยให้เวลาการบินไทยชี้แจงกลับมาที่ศาลภายใน 7 วัน ซึ่งได้เปิดช่องให้การบินไทยชี้แจงเป็นเอกสารได้ หลังจากนั้น เมื่อถึงวันศาลนัดพิจารณา หากผ่านการพิจารณาแล้ว ผู้บริหารแผนก็จะมีอำนาจเสมือนบอร์ดการบินไทย เข้ามาบริหารธุรกิจในทันที และยังมั่นใจว่าการบินไทยจะหลุดแผนฟื้นฟูภายใน 5 ปี แน่นอน แต่หากเคสร้ายแรงไม่สามารถบริหารได้ตามแผน ทางศาลฯก็จะให้โอกาสการบินไทยต่อระยะเวลาไปอีก
2 ปี
แม้ว่าครั้งนี้จะมีเจ้าหนี้ 2 รายไม่เห็นด้วยและคัดค้าน ถามว่ามีความหนักใจหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่หนักใจ ก็ถือว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามต้องมองภาพรวมเพราะเจ้าหนี้กว่า 90%จากเจ้าหนี้กว่า 13,000 รายได้โหวตให้ผ่าน ต้องถือว่าเป็นกระบวนการที่ดีที่ได้ฟังจากเจ้าหนี้ทุกฝ่าย และได้มีการตอบคำถาม ข้อกังวลที่เจ้าหนี้สงสัยไปแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็อยู่ที่คณะกรรมการบริหารแผนว่าจะมีการดำเนินการตามแผนที่เขียนไว้หรือไม่
“ยอมรับว่าการเข้ามาจัดทำแผนฟื้นฟูไม่ง่ายอย่างที่คิด และได้ทำร่วมกับเจ้าหนี้มากว่า 6 เดือน และการบินไทยก็มีเจ้าหนี้กว่า 13,000 ราย มีทั้งเห็นชอบกับแผน และไม่เห็นชอบกับแผน ซึ่งมุมมองแต่ละคนก็แตกต่างกัน ข้อจำกัดของคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเจ้าหนี้บางรายให้ การบินไทยปรับแผน ตรงไหนปรับแก้ได้ก็ปรับ ปัจจุบันการบินมีหนี้ 160,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมหนี้สินระยะยาวมีกว่า 410,000 ล้านบาท แต่ภาพรวมจากที่มีการเจรจากับเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ เจ้าหนี้ต้องการที่จะช่วยการบินไทยให้ไปต่อ ทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจากการคาดการณ์ความสามารถการบินไทยของเจ้าหนี้พบว่าถ้าได้กลับมาทำการบินภายในปลายปี 64-ต้นปี 65 การบินไทยรอดแน่นอน และพ้นจากคำว่าล้มละลาย”.