ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดแล้ว สิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นในปีที่ผ่านมาคือ การลงทุนที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ESG (Environment, Social, Governance) สิ้นปี 2563 มีการออกตราสารหนี้ในลักษณะนี้ทำสถิติสูงสุดกว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเกือบเท่าตัวอยู่ที่ 4.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ บางขุนพรหมชวนคิดจึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงประเด็นนี้ค่ะ
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า กองทุน ESG คืออะไร คือ การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลมาพิจารณาในการวิเคราะห์ คัดเลือก และบริหารการลงทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและดึงดูดนักลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อมปัจจัยที่พิจารณาคือ การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลภาวะอื่นๆ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สำหรับด้านสังคมมุ่งเน้นการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน มาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงาน ความสัมพันธ์กับชุมชน ขณะที่ด้านธรรมาภิบาลจะเน้นการกำกับดูแลกิจการให้มีความโปร่งใส มีกลไกการตรวจสอบหรือถ่วงดุล ดำเนินการภายใต้กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆอย่างเคร่งครัด
เหตุใด บริษัทที่เน้น ESG ถึงได้รับความนิยมมากขึ้น เทียบกับอดีตที่เน้นกำไรของบริษัทเป็นสำคัญ บทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งชี้ว่า การลงทุนในบริษัทที่เน้น ESG หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ในระยะยาว ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อบริษัทสามารถระบุปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง ประกอบกับสถาบันการเงินหลายแห่งมีรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุนเม็ดเงินลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ESG เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน บริษัทยาสูบ หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG สูงขึ้นรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอีกด้วย
สำหรับไทย ESG ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน บริษัทจดทะเบียนหลายรายมี การนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก ทั้งนี้ หากพิจารณาในระดับสากลแล้ว ผลการสำรวจขององค์กรสหประชาชาติด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน พบว่ามี บริษัทเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน ซึ่งภายในปี 2573 บริษัทที่ไม่มี ESG อาจกลายเป็นบริษัทที่ล้าหลัง หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลกที่ประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศรวมถึงไทยได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
การลงทุนที่ยั่งยืน หรือการลงทุนที่คำนึงถึง ESG เป็นอีกหนึ่งกระแสที่สำคัญในอนาคต และเป็นโอกาสของธุรกิจที่มีพื้นฐานและสนใจเรื่องความยั่งยืนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่จะเร่งเครื่องยกระดับ เพื่อให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านนี้ ขณะที่ธุรกิจที่ไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องนี้โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก จะต้องเริ่มคำนึงถึง ESG และผนวกเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจและผลักดันให้เป็นวัฒนธรรมหรือค่านิยมขององค์กรต่อไปค่ะ.