เปิดแผนเจรจาเอฟทีเอปี 64 “พาณิชย์” เห่กล่อม “อียู-เอฟตา” หาตลาดส่งออก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดแผนเจรจาเอฟทีเอปี 64 “พาณิชย์” เห่กล่อม “อียู-เอฟตา” หาตลาดส่งออก

Date Time: 6 พ.ค. 2564 07:16 น.

Summary

  • กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ ทั้งอียู-เอฟตา-สหราชอาณาจักร-อีเออียู-แคนาดา หวังเพิ่มโอกาสการค้า ลงทุน ถ้าไม่ทำ ไทยแข่งขันเหนื่อยแน่ ตั้งเป้าปีนี้เปิดเกมเจรจากับอียู

Latest

เปิดตัว "ไทยรัฐ ครีเอทีฟ" ขยับสู่ธุรกิจ "สื่อสารการตลาดครบวงจร"

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ ทั้งอียู-เอฟตา-สหราชอาณาจักร-อีเออียู-แคนาดา หวังเพิ่มโอกาสการค้า ลงทุน ถ้าไม่ทำ ไทยแข่งขันเหนื่อยแน่ ตั้งเป้าปีนี้เปิดเกมเจรจากับอียู และเอฟตาก่อน พร้อมลุยจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงแผนการเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ว่า ตั้งเป้าหมายจะเจรจากับ 5 กลุ่มประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์), สหราชอาณาจักร, สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (อีเออียู ประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย) และอาเซียน-แคนาดา

เผยเหตุลุยเจรจาเอฟทีเอ

สาเหตุที่ต้องเจรจาเอฟทีเอ เพราะปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ 63% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนที่เหลือเป็นตลาดที่ไทยไม่มีเอฟทีเอด้วย แต่ใน 5 กลุ่มนี้ คู่แข่งของไทยอย่าง เวียดนามทำเอฟทีเอแล้วกับอียู โดยอียูลดภาษีนำเข้า และลดอุปสรรคด้านการค้าให้อีก ทำให้การแข่งขันของเวียดนามในอียูดีกว่าไทยมาก ไทยจึงต้องทำเอฟทีเอ เพื่อสร้างแต้มต่อให้เหนือประเทศคู่แข่ง

โดยสัดส่วนการค้าไทยกับอียู ไม่รวมสหราชอาณาจักร อยู่ที่ 7.5% , เอฟตา 2.1%, สหราชอาณาจักร 1% รวมกันแล้วราว 10% หรือ 1 ใน 10 ของการค้าไทยกับโลก เท่ากับไทยค้ากับญี่ปุ่น หรือสหรัฐฯ อีกทั้งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ ถ้าไทยไม่สร้างแต้มต่อ อาจเสียตลาดให้คู่แข่งได้ โดยอียูสินค้าส่งออกของไทย เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, คอมพิวเตอร์, รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหาร, ผลิตภัณฑ์ยาง, ไก่แปรรูป, ข้าว, อาหารทะเล

สำหรับเอฟตา เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ,อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ, สหราชอาณาจักร เช่น ไก่แปรรูป, ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ, อีเออียู เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป ฯลฯ และแคนาดา เช่น อาหารทะเล กระป๋อง และแปรรูป, ข้าว, ผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ

หวังปีนี้เปิดเกมกับอียู-เอฟตา

นางอรมนกล่าวต่อว่า ในปี 64 ตั้งเป้าหมายเริ่มเปิดเจรจาอย่างน้อย 2-3 กรอบ คือ อียู, เอฟตา และสหราชอาณาจักร หลังจากที่ผ่านมา กรมได้ดำเนินกระบวนการก่อนการเจรจา 4 กระบวนการ คือ 1.ว่าจ้างศึกษาผลดี ผลเสียของเอฟทีเอ 2.รับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง 3.ทำกรอบเจรจา และ 4.ทำเอกสารความคาดหวังของการเจรจา ซึ่งบางกรอบทำครบทั้งหมดแล้ว บางกรอบทำแล้ว 2 กระบวนการแรก เมื่อทำครบแล้ว กรมจะเสนอให้ รมว.พาณิชย์ พิจารณา จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าแต่ละเอฟทีเอนั้น ไทย-อียู ศึกษาผลดี ผลเสียเสร็จแล้ว และลงพื้นที่รับฟังความเห็นแล้ว ผู้เกี่ยวข้องมีความกังวลหลายประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่อียูคาดหวังสูง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา, การเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ยูพอฟ), การเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น ส่วนกรอบการเจรจา จัดทำแล้ว แต่รอหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายเปิดเจรจาได้ราวไตรมาส 2 หรือ 3 ปีนี้

สำหรับกรณีที่ไทย-เอฟตา ศึกษาผลดี ผลเสียแล้ว คาดจะเสร็จและพร้อมเผยแพร่ไตรมาส 2 ปีนี้ จากนั้นจะใช้ขั้นตอนเดียวกับอียู ตั้งเป้าเจรจาหลังจากอียู ส่วนไทย-สหราชอาณาจักร จะหารือผ่านคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า 2 ฝ่าย เพื่อปูทางไปสู่การทำเอฟทีเอในเร็วๆนี้

ตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบ

ทั้งนี้ประเทศ ไทย-อีเออียู เริ่มต้นศึกษาผลดี ผลเสียแล้ว คาดจะเสร็จเดือน ก.ย.นี้ และน่าจะเผยแพร่ปลายปีนี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเหมือนกรอบอียู และสุดท้ายอาเซียน-แคนาดา ทั้งอาเซียน และแคนาดา ได้ศึกษาประโยชน์ ผลกระทบแล้ว คาดว่า อาเซียนจะตัดสินใจเปิดเจรจาหรือไม่เดือน ก.ย.นี้ ขณะเดียวกัน ไทยได้จ้างศึกษาผลดี ผลเสียเช่นกัน คาดจะเสร็จเดือน ก.ค.นี้

“กรมจะขอความเห็นชอบจาก ครม.ในกรอบเจรจา 3 กลุ่ม คือ อียู, เอฟตา และสหราชอาณาจักร เป็นกรอบการเจรจาเดียวกันทั้งหมด เพราะรู้ว่าเขามีความคาดหวังคล้ายๆกันในแต่ละประเด็นที่จะนำมาเจรจา โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยยังกังวล ทั้งทรัพย์สินทางปัญญา,ยูพอฟ, จัดซื้อภาครัฐ, แรงงาน ฯลฯ เพื่อให้การเจรจาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนอาเซียน-แคนาดาจะใช้กรอบเดิมที่เคยขอไว้ภายใต้อาเซียน+1 ไม่ต้องขอซ้ำอีก”

นางอรมนกล่าวอีกว่า เมื่อไทยเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอแล้ว ขณะเดียวกันจะจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย โดยคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ที่มีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ประชุมหลายครั้งแล้ว และได้ข้อสรุปว่า จะจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียน เบื้องต้นน่าจะมีทุนประเดิมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่รายละเอียดของการจัดตั้งกองทุนอยู่ระหว่างการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดจะจัดตั้งได้เร็วๆนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ