นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กได้มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาผลกระทบจากราคาเหล็กทั่วโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อภาครัฐ ดังนี้ 1.การเร่งพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา ซึ่งมีตัวอย่างที่ผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กบางรายได้นำร่องความร่วมมือดังกล่าวจนเป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล็กส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้พยายามรักษาสมดุลระหว่างต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้นมากกับการดูแลลูกค้าผู้ใช้เหล็กตามกลไกตลาดอยู่แล้ว และหากจะมีมาตรการเสริมใดๆก็ต้องพิจารณาเฉพาะแยกตามผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและรอบคอบ เพราะสินค้าเหล็กแต่ละผลิตภัณฑ์มีโครงสร้างการผลิต ตลาด และได้รับผลกระทบจากราคาตลาดเหล็กโลกต่างกัน ถ้ามีการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อาจสร้างผลกระทบจนเหล็กขาดแคลนรุนแรง 2.การสนับสนุนจากภาครัฐให้ผู้ผลิตเหล็กมีความสามารถจัดหาวัสดุปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้เหล็กที่ขยายตัวของไทย เช่น การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อจัดหาวัสดุเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินส่วนใหญ่จำกัดวงเงิน ทำให้เป็นข้อจำกัดสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบที่ราคาปรับสูงขึ้น
สาเหตุที่ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาจากอุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมปรับตัวในทิศทางบวก โดยทั้งโลกมีการผลิตเหล็ก 150 ล้านตันต่อเดือน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าปีนี้ ความต้องการใช้เหล็กของโลกจะเพิ่มเป็น 1,874 ล้านตัน โดยประเทศจีนเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตและใช้เหล็กมากที่สุด 55% ของโลก และปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าเหล็ก 18.3 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6 เท่าจากปี 2562 ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดเมื่อปีที่ผ่านมา การบริโภคลดเหลือ 16.5 ล้านตัน แต่หากรัฐบาลไทยสามารถเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ดี คาดว่าในปีนี้ตลาดเหล็กของไทยจะมีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น 7% เป็น 17.7 ล้านตัน.