นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 107.73 เพิ่มขึ้น 4.12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมาเป็นบวกและเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 29 เดือน (ต.ค. 2561-ก.พ. 2564) และอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 69.59% จากเดือนก.พ. อยู่ที่ 65.06% สะท้อนให้เห็นแนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ และกลุ่มแพร่ระบาดไม่ได้อยู่ในกลุ่มแรงงานและ โรงงาน ดังนั้น ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงประกอบกิจการได้ต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่บทความ “แรงงานคืนถิ่นหลังโควิค-19 จุดเปลี่ยนภาคเกษตรไทย และเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค : ข้อมูลจาก Mobile Big Data โดยพิจารณาผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานในมิติการย้ายคืนถิ่น ของช่วงการระบาดระลอกแรกและสอง จากผู้ใช้มือถือ 20 ล้านคน ช่วงวันที่ 1 ม.ค.2562-28 ก.พ. ที่ผ่านมา รวม 26 เดือน พบว่า ช่วงโควิดครั้งแรก มีแรงงานย้ายคืนถิ่นกลับภูมิลำเนาขนานใหญ่ทั่วประเทศ สะท้อนจากจำนวนประชากร ทั้งย้ายเข้าสุทธิและย้ายออกเดือนก.พ.- เม.ย. 2563 รวม 2 ล้านคน สูงกว่าการเคลื่อนย้ายเฉลี่ยในช่วงหลังของปีที่ผ่านมา มากกว่า 200,000 คนต่อเดือน และ 80% อยู่ในวัยทำงานอายุ 21-60 ปี และกว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าว เป็นผู้มีรายได้น้อย เทียบเคียงจากข้อมูลจ่ายบิลค่าโทรศัพท์เดือนละ 0-99 บาท สอดคล้องกับผลสำรวจแรงงานนอกระบบ ที่พบว่าแรงงานย้ายคืนถิ่น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน ทำงานในภาคบริการ โรงแรม ภัตตาคาร การตัดสินใจกลับภูมิลำเนา เพื่อความอยู่รอด
ทั้งนี้ แรงงานที่กลับภูมิลำเนาส่วนใหญ่ เป็นแรงงานถูกเลิกจ้างย้ายถิ่นออกจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยวหลัก ชลบุรี ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ขณะที่การสำรวจช่วงการระบาดระลอกสองตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าและออกสุทธิเพิ่มเติม แต่มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าช่วงการระบาดรอบแรก อาจเป็นผลจากแรงงานย้ายคืนถิ่นไปมากแล้วในระลอกแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รายงานการนำส่งรายได้และเงินปันผลของรัฐวิสาหกิจและกิจการ ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% สะสมใน 6 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563-มี.ค.2564) สามารถนำส่งรายได้ 47,779 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 35,006 ล้านบาท โดยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 82,785 ล้านบาท ขณะที่การนำส่งรายได้เฉพาะเดือนมี.ค. อยู่ที่ 4,785 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11,538 ล้านบาท ถึง 6,753 ล้านบาท.