นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ 5 ข้อ ได้แก่
1.การป้องกันข้อมูลส่วนตัว โดยการตั้งรหัสเข้าข้อมูลของไฟล์ข้อมูลที่ต้องการป้องกัน
2.การป้องกันการเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การใส่ชื่อ username และ password การใช้สมาร์ทการ์ดในการควบคุมการใช้งาน หรือกุญแจเพื่อการป้องกันการใช้คอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต การใช้อุปกรณ์ทางชีวภาพ เช่น ตรวจสอบเสียง ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ลายเซ็น ม่านตา เป็นต้น
3.การสำรองข้อมูล โดยไม่เก็บข้อมูลไว้ที่เดียว สามารถสำรองไว้ในอุปกรณ์ที่ใช้อ่านอย่างเดียว เช่น แผ่นซีดีและแผ่นวิดีโอ
4.การตั้งค่าโปรแกรมค้นหาและกำจัดไวรัสคอมพิวเตอร์
5.ไม่คลิกรับไฟล์ที่ไม่รู้จักที่ส่งเข้ามาผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไลน์, Email หรือ SMS โดยเฉพาะไฟล์ที่มีนามสกุล. APK,. EXE เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นการ Phishing ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปดำเนินการในทางทุจริต รวมถึงการเชิญชวนให้รับโชคต่างๆ ต้องไม่หลงเชื่อโดยไม่มีการตรวจสอบ
“ล่าสุดที่มีประชาชนจำนวนมาก ตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้เถื่อน เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดเจนว่า การที่อนุญาตให้แอปเข้าถึงข้อมูลเพื่อที่จะดำเนินการกู้เงิน ผลที่ตามมาร้ายแรงกว่าที่คิด เพราะผู้ร้ายจะเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของเราได้ เช่น รูปภาพ เบอร์โทรศัพท์ ไฟล์ข้อมูลต่างๆ และนำข้อมูลนั้นมาข่มขู่หรือรบกวนผู้กู้ และผู้ที่รู้จักภายหลังได้ ข้อมูลที่ผู้ร้ายได้ไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้อีก”
นายภุชพงค์ กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงฯ ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันผิดกฎหมาย ยังมุ่งเรื่องการตรวจสอบเป็นหลัก เพราะแอปที่เปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทย มีการยื่นขอเปิดไปทางผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการมือถือ ได้แก่ แอปเปิ้ล และกูเกิล ซึ่งจัดตั้งอยู่ในต่างประเทศ เป็นข้อจำกัดของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและที่สำคัญการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์จะได้ผล ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในด้านของผู้พัฒนาระบบหรือผู้กำหนดนโยบาย.