นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด แพลตฟอร์มจัดหางานออนไลน์ เปิดเผยว่า เดือน ก.พ.64 ความต้องการแรงงานในไทย ทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางานและสื่อกลางออนไลน์อื่นๆ เติบโตขึ้นจากจุดต่ำสุด 24.65% สะท้อนว่าตลาดแรงงานไทยผ่านจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย.63 และเดือน ธ.ค.63 (การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2) แล้ว คาดจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาขยายตัว 5% ในช่วงกลางปี 64 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤติโควิด-19 ในต้นปี 65 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่
“ในช่วงก่อนโควิด จ๊อบส์ ดีบีมีจำนวนใบสมัครหางานเดือนละ 800,000 ใบ แต่ในช่วงโควิดมีมากถึง 1 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 20% เท่ากับว่าอัตราแข่งขันในการหางานของคนไทยสูงขึ้นถึง 20% มีสัดส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนสายงานที่เป็นที่ต้องการยิ่ง ยังคงเป็นด้านไอที” สำหรับสายงานที่ลงประกาศจ้างงานมากที่สุดในไตรมาส 1/64 ได้แก่ 1. ฝ่ายขาย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ 2. ไอที 3.วิศวกรรม ส่วนสายงานใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ได้แก่ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation รวมถึง Growth Officer
ด้าน น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยไตรมาส 1/64 ดัชนีอยู่ที่ 36 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมากที่สุด และแย่กว่าไตรมาส 4/63 โดยมีธุรกิจท่องเที่ยว เปิดบริการ 67% ลดลง 18% จากไตรมาส 4/63 ที่เปิดบริการ 85% ขณะที่มีสถานประกอบการปิดชั่วคราว 14% เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาส 4/63 และปิดถาวร 3% เท่าเดิม นอกจากนี้ มีสถานประกอบการ 60% ลดพนักงาน ทำให้ล่าสุดเหลือพนักงาน 52% เท่านั้น ส่วนอีก 67% ของสถานประกอบการ ลดเงินเดือนลง 30%
“การจ้างงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดิมมี 4.3 ล้านคน เมื่อสถานประกอบการปิดกิจการ 17% ทั้งปิดถาวรและปิดชั่วคราว ทำให้มีแรงงานภาคบริการทั้งระบบ ที่ถูกออกจากงาน 680,000 คน และมีแรงงานที่ถูกให้ออกจากการลดพนักงานของสถานประกอบการ 771,840 คน รวมมีแรงงานภาคบริการออกจากงานแล้ว 1.451 ล้านคน เพิ่ม 411,840 คน จากไตรมาส 4/63”.