“กัญชา-กัญชง” สร้างรายได้ ต่อยอดความสำเร็จ “บุรีรัมย์โมเดล”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กัญชา-กัญชง” สร้างรายได้ ต่อยอดความสำเร็จ “บุรีรัมย์โมเดล”

Date Time: 15 มี.ค. 2564 05:03 น.

Summary

  • ในที่สุดกัญชาและกัญชง ซึ่งเคยเป็นพืชที่ห้ามปลูก เพราะถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ก็ได้รับการอนุมัติจากทางการให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เกษตรกรไทยจะสามารถเลือก

Latest

เปิดอินไซต์ คนไทย #ติดแกลม เมื่อคนต่างเจน มองคำว่า "หรูหรา" ไม่เหมือนกัน ?

ในที่สุดกัญชาและกัญชง ซึ่งเคยเป็นพืชที่ห้ามปลูก เพราะถือเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ก็ได้รับการอนุมัติจากทางการให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เกษตรกรไทยจะสามารถเลือก หรือปลูกเพื่อทดแทนพืชเศรษฐกิจตัวเดิมๆที่มีราคาต่ำกว่าได้

แนวคิดนี้เป็นไปตามแรงผลักดันอย่างจริงจัง ภายใต้ “บุรีรัมย์โมเดล” ของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย ที่พยายามสร้างบ้านแปงเมืองให้บุรีรัมย์ที่เคยเป็นจังหวัดนอกสายตา แห้งแล้ง และประชากรยากจน ให้กลายเป็นจังหวัดที่ประชากรอยู่ดีกินดี เป็นจังหวัดที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งใน และต่างประเทศให้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในบุรีรัมย์ได้

ด้วยการลงทุนสร้างสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และอคาเดมี่ เพื่อฝึกสอนเยาวชนในจังหวัดให้เป็นนักฟุตบอลในอนาคต ตลอดจนถึงการลงทุนเพื่อสนามแข่งรถยนต์-รถมอเตอร์ไซค์ (F3) ดึงนักท่องเที่ยว และผู้รักการกีฬาทั้งหลายเข้าไปใช้จ่ายเงินในบุรีรัมย์

“น้องแนน” น.ส.ชิดชนก ชิดชอบ ได้รับมอบหมายจากบิดาให้ออกแบบกิจกรรมประเภทต่างๆที่จะทำให้บุรีรัมย์โมเดล ประสบความสำเร็จในหลายด้าน เปิดเผยกับ ทีมเศรษฐกิจ ว่า เธอศึกษาสายพันธุ์ของต้นกัญชาและกัญชงมามาก ทั้งทดลองปลูกเองและให้เกษตรกรนำไปปลูกตามกฎกติกาที่กำหนด

จัดมหกรรม “กัญชา-กัญชง” ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน น้องแนนก็รับเป็นแม่งานในการจัดมหกรรม “กัญชา-กัญชง” ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพืชทั้งสองชนิดที่มีความเกี่ยวพันกัน และเกือบจะเหมือนกันนี้ แก่ผู้คนทั่วไป และเกษตรกรที่สนใจจะปรับเปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชเดิมๆ ไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ตัวนี้

“มีผู้คนให้ความสนใจในการจัดมหกรรมนี้มากถึง 60,000 คนในปีแรกที่เราจัด แต่ปีถัดมา ต้องหยุดเพราะโควิด ส่วนปีนี้ น่าจะสามารถจัดได้ หลังจากมีวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว”

จากการศึกษาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทั้งสองชนิดนี้ คือ ทั้งกัญชาและกัญชงมีคุณประโยชน์หลายด้าน อย่างกัญชา มีประโยชน์ในการสกัดเพื่อใช้ในทางเวชกรรม เภสัชกรรม และการแพทย์แผนไทย มีฤทธิ์ในการช่วยลดความอ้วน ชะลอความชรา แก้ปัญหาการอาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดจากโรคมะเร็ง ทั้งยังสามารถรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรงได้หลายโรคด้วยกัน เช่น ความดัน เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท โรคความจำเสื่อม และโรคกล้ามเนื้อแข็งเกร็งได้

จากงานวิจัยทางการแพทย์ของหลายประเทศ ระบุชัดว่า กัญชามีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC ที่เป็นสารออกฤทธิ์ทางจิต และประสาทที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง ลดการปวด และอักเสบจากโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน ร่างกาย ซึ่งเป็นสารอยู่ในใบและดอก

อย่างไรก็ตาม กัญชายังคงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษอยู่ดี แม้จะมีการอนุญาตให้ปลูกได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

หาพันธุ์ที่ดีที่สุดให้เกษตรกร

ขณะที่กัญชง สามารถนำเส้นใยมาผลิตเป็นเสื้อผ้า กระดาษ เชือก ฉนวนกันความร้อน วัสดุก่อสร้าง และแม้กระทั่งนำมาสกัดเป็นน้ำมันที่มีโอเมก้า 3 สูง เพื่อทำเป็นอาหารเสริมของมนุษย์ และอาหารสัตว์ ซึ่ง ครม.อนุมัติให้ปลูกได้

“กัญชง ได้รับการอนุญาตให้ปลูกได้อย่างกว้างขวางมากกว่า ชาวบ้านทั่วไปสามารถขออนุญาตปลูกได้ ต่างกับกัญชา และยังสามารถจะขายผลผลิตได้เกือบทุกส่วน เราจึงมีความเห็นว่า ควรให้การสนับสนุนเกษตรกรปลูกไร่กัญชงมากกว่า และปีหนึ่งๆอาจปลูกได้ถึง 2 ฤดูกาล โดยสนนราคาของกัญชงต่อไร่ ตกอยู่ที่ราคาราว 15,000 บาท”

น.ส.ชิดชนก กล่าวว่า เธอร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรฯแม่โจ้ เพื่อศึกษาสายพันธุ์ดีๆหลายชนิด เอาเมล็ดพันธุ์ที่ดีมาให้เกษตรกรเลือกไปปลูก และถ้าได้เป็นต้นกล้ามาก็จะสามารถปลูก ได้ไร่ละ 2,000 ต้น

“แนน ยังต้องทำศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร พร้อมเปิดรับการลงทะเบียนเพื่อการปลูกเพื่อส่งไปขออนุญาต ให้เกษตรกรปลูกได้ จากนั้นก็ต้องเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานสกัดเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ถือเป็นการจัดหาตลาดให้เกษตรกรไปด้วย”

สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็น Pilot Project ของ น.ส.ชิดชนก ซึ่งจะต้องมองไปในอนาคตข้างหน้าเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกมีรายได้ที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีตามมา

ผลวิจัยขององค์การอาหารและยา (อย.)

เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. ให้ความเห็นว่า กัญชง เปิดกว้างให้ประชาชน รวมถึงเกษตรกร สามารถขออนุญาตปลูกได้ ซึ่งต่างจากกัญชา การขายก็สามารถขายได้ทุกส่วน ยกเว้นช่อดอก เพราะมี THC สูง แต่ก็ขายได้ทุกรูปแบบ ทั้งในการนำไปทำเป็นอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ และสกัดเป็นน้ำมันกัญชงได้

โดยมีข้อแม้ระบุว่า ผู้ขออนุญาตปลูกต้องมีการระบุคนรับซื้อที่เป็นรูปธรรม แต่หากผู้ต้องการปลูก ยังจับคู่ธุรกิจไม่ได้ อย.สามารถทำหน้าที่ช่วยเป็นผู้ประสานงานในการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ปลูกและผู้รับซื้อได้ เช่น โรงงานสกัด หรือโรงงานแปรรูป

สำหรับผู้สนใจ สามารถยื่นคำขออนุญาตปลูกกัญชงได้โดยหากอยู่ใน กทม. ก็ให้ยื่นขออนุญาตได้ที่ อย. หากอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

ส่วนการจะนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูก หรือศึกษาวิจัยให้ยื่นคำขอได้ที่ อย. และจะเลือกปลูกพันธุ์ไหน หรืออยากซื้อเมล็ดพันธุ์ในประเทศ ก็สามารถไปยื่นขอจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯแม่โจ้ สถาบันวิจัยพื้นที่สูง และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้

สำหรับกัญชา แม้จะได้รับอนุญาตให้ปลูกได้แต่ก็จำกัดจำนวนคนปลูก และต้องเป็นการปลูกเพื่อการแพทย์ กับการวิจัยเท่านั้นในเวลาเดียวกัน ผู้สนใจจะปลูก ต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ปลูก และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ออกมาอย่างเคร่งครัด เช่นมีสถานที่ปลูกชัดเจน มีรั้วรอบขอบชิด มีกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

“เห็นด้วยว่า กัญชาและกัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ได้ แต่ติดที่กัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ และมีข้อจำกัดมากกว่า กัญชง จริงๆพืชทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นเสมือนพี่น้องฝาแฝดกัน เป็นพืชล้มลุกปลูก 3-4 เดือนก็ให้ผลผลิตได้แล้ว…

มองภายนอกอาจจะแยกไม่ออก จะต้องดูปริมาณสาร THC เท่านั้น คือถ้ามี THC มากกว่า 1% จัดเป็นกัญชา แต่ถ้า THC ไม่ถึง 1% จัดเป็นกัญชง และถ้านำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชง จะมีราคาสูงถึงลิตรละ 500-1,200 บาท”

คุณประโยชน์ของ “กัญชง”

กัญชง จัดเป็นพืชที่มากด้วยคุณประโยชน์ ไม่ใช่แต่การใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเท่านั้น ดอก ใบ และเมล็ดยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีโอเมก้า 3 ที่สามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ อาหารเสริม และเครื่องสำอางได้ด้วย

ที่ผ่านมา มีประเทศทั่วโลกกว่า 60 ประเทศอนุญาตให้เกษตรกรของพวกเขาปลูกเชิงพาณิชย์ได้นานแล้ว ขณะที่ราคาที่ขายกันในต่างประเทศดูจะสูงเอาการอยู่

“บุรีรัมย์ โมเดล” จึงเดินมาถูกทางที่จะสนับสนุนให้กัญชง เป็นทั้งสมุนไพรไทย และพืชเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มพูนรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังสามารถยกระดับมาตรฐานสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชสมุนไพรโลก

เป็นการสนับสนุนเกษตรกรปลูกกัญชงอย่างครบวงจร ตั้งแต่นำเมล็ดมาปลูกไปจนถึงส่งให้โรงงานสกัด และแปรรูปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ช่วงเวลาที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป และเกษตรกรปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจได้นี้ มีเอกชนจำนวนมากตั้งโรงงานเพื่อรอรับซื้อวัตถุดิบจากต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำแล้วจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีหลายมหาวิทยาลัยเปิดภาควิชานี้เรียนให้แก่นักศึกษาเรียนหลักสูตรวิธีการปลูกไปจนถึงการแยกสารประกอบจากส่วนต่างๆออก หลังจากสำรวจแล้วพบว่า สหรัฐฯและประเทศในกลุ่มสวีดิช มีรายได้จากการจำหน่ายกัญชาและกัญชงปีละประมาณ 225,000 ล้านบาท

ทั้งยังคาดการณ์ด้วยว่า ปีนี้รายได้จากอุตสาหกรรมครบวงจรของพืชเศรษฐกิจทั้งสอง จะเพิ่มขึ้นเป็น 21,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 648,000 ล้านบาท (30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาระบุการคาดการณ์ด้วยว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดแรงงานในสหรัฐฯจะต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้เป็นจำนวนสูงถึง 414,000 คน

การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนเช่นนี้ จัดว่าเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องดีงาม และทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทยค่อยๆหมดไปด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ