นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าไอศกรีมเป็นสินค้าส่งออกที่น่าจับตาของไทยเพราะส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและปรับตัวได้ดีท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่มีความท้าทายสูง โดยความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆที่บริโภคได้ ทุกรายการที่ส่งออกจากไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจาก 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียงญี่ปุ่น ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าที่ 21-29.8%
ทั้งนี้ ในปี 63 ไทยส่งออกไอศกรีมไปยังประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่า 75.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับปี 62 หรือคิดเป็นสัดส่วน 85.1% ของการส่งออกไอศกรีมทั้งหมดของไทย โดยส่งออกไปอาเซียน 63.5 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 1% โดยมีมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกหลักขยายตัว 24%, เกาหลีใต้ 5.8 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 275%, ออสเตรเลีย 2.3 ล้านเหรียญฯ, ขยายตัว 328% และฮ่องกง 1.1 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 11% นอกจากนี้ ในปี 63 ไทยขยับอันดับขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกไอศกรีมสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนอีกด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานผลิต พัฒนาสินค้า คิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เพิ่มส่วนผสมผลไม้เมืองร้อนกลุ่มมะพร้าว มะม่วง ทุเรียน ไอศกรีมจากนมถั่วเหลือง ไอศกรีมไขมันต่ำ ไอศกรีมน้ำตาลน้อย ไอศกรีมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อสร้างจุดขายไอศกรีมไทยในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ.